นพ. พงษ์ตะวัน กัลยพฤกษ์
นพ. พงษ์ตะวัน กัลยพฤกษ์
ข้อมูลทั่วไป
การรักษาโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด มักจะรักษาด้วยการให้ยาก่อน ส่วนการผ่าตัดซึ่งเป็นงานที่ซับซ้อน หมอมักจะทำในผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ อย่างในกรณีที่คนไข้ต้องการใช้งานเส้นเลือดเพื่อรักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น คนไข้โรคไตที่ต้องฟอกไต หรือคนไข้ที่ต้องให้ยาเคมีบำบัดเป็นระยะเวลานาน หมอก็จะใช้อุปกรณ์ใส่ในเส้นเลือดดำเพื่อให้คนไข้ไม่ต้องเจาะเส้นเลือดบ่อยๆ เพื่อความสะดวกในการให้ยา การที่เราพยายามหลีกเลี่ยงการเจาะเส้นเลือดบ่อยๆ ก็เพราะคนไข้กลุ่มนี้มักมีหลอดเลือดที่เสื่อมลงเรื่อยๆ การรักษาหลอดเลือดให้บอบช้ำน้อยที่สุดจึงจำเป็นอย่างมาก
หลังจาก นพ. พงษ์ตะวัน กัลยพฤกษ์ จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้ว คุณหมอได้ศึกษาต่อด้านศัลยศาสตร์ทั่วไป ที่โรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี ซึ่งก็ได้รักษาและทำหัตถการเกี่ยวกับการผ่าตัดในทุกๆ อย่างที่ศัลยแพทย์ทั่วไปทำ เช่น ผ่าตัดอวัยวะต่างๆ ในช่องท้อง ผ่าตัดแขน ขา เส้นเลือด หลอดเลือด คุณหมอเล่าว่า. . .
“การผ่าตัด เมื่อเป็นศัลยแพทย์ก็ต้องผ่าตัดอวัยวะพื้นฐานได้ทั้งหมด แต่ในขณะที่เรียนเป็นศัลยแพทย์อยู่นั้น รู้สึกว่าสาขาศัลยกรรมหลอดเลือดค่อนข้างเป็นอะไรที่ท้าทาย มันมีความยุ่งยาก ละเอียด และซับซ้อนในเรื่องการรักษา และเป็นสาขาที่ไม่ค่อยมีแพทย์เรียนต่อกันนัก หมอจึงตัดสินใจเรียนต่อในอนุสาขาศัลยศาสตร์หลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตอนนั้นในประเทศไทยก็มีเปิดสอนอยู่แค่ 2 แห่ง ในแต่ละปีจึงมีแพทย์ด้านนี้เพิ่มขึ้นเพียง 2-3 คน แต่ในปัจจุบันก็มีเปิดสอนมากขึ้นแล้ว”
ศัลยกรรมหลอดเลือดคืออะไร ทำไมต้องใช้แพทย์เฉพาะทาง
ศัลยกรรมหลอดเลือดเป็นการผ่าตัดรักษาโรคที่มีสาเหตุหรือเกิดปัญหากับหลอดเลือดหรือเส้นเลือดโดยตรง เช่น เส้นเลือดแดงตีบ ตัน เส้นเลือดดำขอด หรือมีการอุดตันเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีการผ่าตัดที่เป็นวิธีเฉพาะ
เหตุที่ควรผ่าตัดด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมหลอดเลือด ก็เพื่อผลการรักษาที่ดี ลดความเสี่ยงในการทำให้เส้นเลือดเสียหาย. . .
“คนไข้ที่หมอดูแลรักษาก็จะเกี่ยวกับหลอดเลือดทั้งแดงและดำ ถ้าเป็นโรคที่เกี่ยวกับเส้นเลือดแดง ก็มักอยู่ในกลุ่มที่เป็นเส้นเลือดตีบหรือตันจากโรคประจำตัว อย่างเช่น เบาหวาน ความดัน โรคไต ซึ่งส่วนใหญ่คนไข้จะมีภาวะเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายไม่เพียงพอ ทำให้เกิดแผลบ้าง อวัยวะเสียหายบ้าง แต่ถ้าเกี่ยวกับเส้นเลือดดำก็จะเป็นโรคเส้นเลือดขอดซะส่วนใหญ่ เส้นเลือดขอดก็ทำให้คนไข้มีปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวัน บางคนก็ขาบวม เป็นแผล การรักษาเราจะเริ่มด้วยการใช้ยา แต่หากจำเป็นจริงๆ การผ่าตัดเส้นเลือดดำก็ทำได้ทั้งการทำทางเดินเส้นเลือดใหม่ ขยายเส้นเลือด หรือว่านำเส้นเลือดที่ยังดีจากอวัยวะส่วนอื่นที่จำเป็นน้อยกว่ามาเปลี่ยนให้ในตำแหน่งที่เส้นเลือดเสียหาย”
รักษาหลอดเลือดแบบองค์รวมร่วมกับการรักษาทางอายุรกรรม
โดยทั่วไปแล้ว คนไข้ที่มีโรคประจำตัวก็มักมีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดด้วย เช่น หลอดเลือดแดงตีบตัน ซึ่งอายุรแพทย์ก็จะส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือดดูแล คุณหมอพงษ์ตะวัน ก็จะดูแลรักษาด้วยการแนะนำหรือให้ยาเพื่อไม่ให้โรคลุกลาม โดยมุ่งที่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม และเน้นที่การป้องกัน หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ส่วนการผ่าตัดนั้นจะให้เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ความสำคัญของการรักษา ส่วนหนึ่งจึงอยู่ที่การวินิจฉัยโรคให้พบแต่แรก เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลาม ทั้งนี้คุณหมอกล่าวไว้ว่า. . .
“ไม่ว่าคนไข้จะมีอาการแบบไหนมา หมอจะหาสาเหตุและหาตัวโรคให้พบก่อน คือต้องพิจารณาจากอาการนำ การซักประวัติ การตรวจแล็บที่จำเป็น อย่างเช่น ถ้าคนไข้มีอาการปวดขา ขาบวม ก็ต้องพิจารณาถึงสาเหตุหลายๆ อย่างที่น่าจะเป็นไปได้ รวมถึงดูว่ามีเส้นเลือดตีบหรือเปล่า ซึ่งถ้าตรวจแล้วมีแนวโน้มไปทางนั้น ก็จะต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยการวัดความดันของหลอดเลือดแดง รวมถึงดูว่าคนไข้มีโรคทางอายุกรรมด้วยไหม เป็นเบาหวาน เป็นโรคหัวใจอยู่หรือเปล่า ส่วนการตรวจเส้นเลือดดำอุดตันก็สามารถทำอัลตร้าซาวด์ดูว่ามีก้อนเลือดติดค้างอยู่ตรงไหนไหม เป็นต้น”
นวัตกรรมและความก้าวหน้าในการรักษาและผ่าตัดหลอดเลือด
นวัตกรรมการรักษาหลอดเลือดมีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ อย่างเช่น การขยายเส้นเลือดแดงก็มีการพัฒนานำลูกโป่งขยายและขดลวดขยายมาใช้ ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าแต่ก่อน ทั้งนี้ คุณหมอพงษ์ตะวัน ก็จะติดตามพัฒนาการทางการรักษา และร่วมประชุมกับสมาคมแพทย์หลอดเลือดอยู่เป็นประจำทุกปี เพื่ออัปเดตความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ
นอกจากการรักษาและการผ่าตัดโรคหลอดเลือดที่ รพ. พญาไท 3 แล้ว คุณหมอยังได้กลับไปช่วยงานในโรงพยาบาลของรัฐ ด้วยการช่วยตรวจและผ่าตัดคนไข้ ซึ่งคุณหมอมองว่า เป็นทั้งการช่วยเหลือคนไข้และยังได้สั่งสมประสบการณ์และพัฒนาฝีมือการผ่าตัด รวมถึงได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาแพทย์ หรือรุ่นน้องศัลยแพทย์ที่ไม่ได้ศึกษาทางด้านศัลยกรรมหลอดเลือดโดยตรงให้ได้มีความรู้เพิ่มเติมทั้งเรื่องของการผ่าตัดหลอดเลือด การรักษา และแนวคิดในการดูแลคนไข้ที่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดโดยเฉพาะ เพราะโรคทางด้านนี้ถือเป็นโรคที่ต้องอาศัยความละเอียดในการรักษา เพื่อผลการรักษาที่ดีและเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของคนไข้นั่นเอง
การศึกษา
- 2541 – 2547 แพทยศาสตรบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 2549 – 2551 วุฒิบัตรศัลยศาสตร์ทั่วไป, โรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี
- 2552 – 2554 วุฒิบัตรศัลยศาสตร์หลอดเลือด , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ตารางออกตรวจ
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป
คลินิกศัลยกรรมทั่วไป