“นอนกรน” เสี่ยงกว่าที่คิด... แต่รักษาให้เป็นปกติได้

พญาไท 3

2 นาที

พ. 20/05/2020

แชร์



“นอนกรน” เสี่ยงกว่าที่คิด... แต่รักษาให้เป็นปกติได้

“นอนกรน” อาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่รู้ไหมว่าอาการนอนกรน (Snoring) อาจเกิดควบคู่กับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea : OSA) ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ซึ่ง นพ.อุทัย ประภามณฑล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรม ศีรษะ ลำคอ หลอดลม และกล่องเสียง ศูนย์หู คอ จมูก รพ.พญาไท 3 บอกว่า อาการนอนกรนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่สนิท มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ

นอนกรน อันตรายกว่าที่คิด

คุณหมออุทัย บอกว่า คนที่นอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จะมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (Excessive daytime sleepiness) ซึ่งส่งผลให้ทำงานได้ไม่เต็มที่และมีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ทั้งยังมีความเสี่ยงเป็นโรคอื่นๆ ได้ง่าย อาทิ โรคความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคของหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น

 

คุณหมออุทัย บอกว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มักจะกรนมากเวลานอน หรือรู้สึกนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อย ปากแห้ง คอแห้ง หลังตื่นนอนมักรู้สึกง่วงนอนมาก หรือง่วงนอนตอนกลางวัน หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดี หรือมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ

 

ส่วนเด็กที่มีภาวะนี้ อาการกรนจะคล้ายผู้ใหญ่ ร่วมกับหายใจลำบาก นอนกระสับกระส่าย อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ผลการเรียนแย่ลง และเติบโตช้ากว่าวัย

เช็คลิสต์!! อาการแบบนี้ พบแพทย์ด่วน

อาการที่บอกว่าคุณมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ และให้รีบไปพบแพทย์ คุณหมออุทัย บอกว่า คืออาการเหล่านี้

  • หลังตื่นนอนตอนเช้า มีความอ่อนล้าไม่สดชื่น หรือมีอาการปวดมึนศีรษะต้องการนอนต่อเป็นประจำ รู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม มีความรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน
  • ง่วงนอนหรือเผลอหลับในเวลาทำงานกลางวัน ในห้องเรียน ขณะเข้าประชุม ขณะขับขี่รถ หรืออ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์
  • นอนหลับแล้วฝันร้ายหรือละเมอขณะหลับ นอนกระสับกระส่ายมาก
  • มีอาการหายใจติดขัด หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ บางครั้งอาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลายขณะหลับ
  • มีอาการนอนสะดุ้งตื่น หรือหายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ
  • มีความดันโลหิตสูงหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่หาสาเหตุไม่ได้
  • การทำงานหรือผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง ขาดสมาธิ
  • สมรรถภาพทางเพศลดลง

แพทย์วินิจฉัยอย่างไร ให้รู้ว่าการนอนมีปัญหา

หากคุณรู้ตัวว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ ควรมาตรวจกับแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจพิเศษ โดยมีขั้นตอน ดังนี้

  • ตรวจลักษณะทั่วไปของคนไข้ที่อาจทำให้เกิดอาการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น คอสั้น น้ำหนักมากเกิน มีความผิดปกติในลักษณะโครงสร้างของใบหน้า
  • การตรวจทางหู คอ จมูกอย่างละเอียด ได้แก่ การตรวจโพรงจมูก การตรวจหลังโพรงจมูก ช่องปาก คอหอย เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ทอนซิล โคนลิ้น และกล่องเสียง
  • การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography: PSG) เป็นหัวใจหลักในการวินิจฉัย สามารถบอกได้ว่าเป็นการนอนกรนธรรมดากับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ บอกความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และคุณภาพของการนอนหลับว่าหลับได้ดีหรือไม่ รวมถึงมีความผิดปกติเกิดขึ้นในขณะนอนหลับหรือไม่

นอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับ… รักษาได้

การรักษาอาการนี้ คุณหมออุทัย บอกว่ามี 2 วิธีหลักๆ คือ

  • การรักษาโดยไม่ผ่าตัด (Non-surgical treatment)
    • ลดน้ำหนัก
    • การปรับเปลี่ยนท่าทางการนอน เช่น ไม่ควรนอนหงาย เนื่องจากจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าการนอนตะแคง
    • หลีกเลี่ยงยาหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์, ยานอนหลับ, ยากล่อมประสาท, ยาแก้แพ้ ชนิดที่ทำให้ง่วง โดยเฉพาะก่อนนอน
    • การใส่เครื่องมือในช่องปาก (oral appliances) หลักการคือใส่เครื่องมือเข้าไปในช่องปากลักษณะเหมือนฟันยาง เพื่อป้องกันลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ วิธีนี้เหมาะในกรณีที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับไม่รุนแรง
    • การใช้เครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับที่เรียกว่า Continuous positive airway pressure (CPAP) เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับที่รุนแรง และไม่เหมาะที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาโดยการผ่าตัด (Surgical treatment)

เป็นการผ่าตัดเพื่อเพิ่มขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น และแก้ไขลักษณะทางกายวิภาคที่ผิดปกติ โดยการผ่าตัดแต่ละวิธีได้ผลดีไม่เท่ากัน ซึ่งมีอยู่หลายวิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดจมูก ได้แก่ การใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงจี้จมูกเพื่อให้จมูกยุบบวมลง, การผ่าตัดผนังกั้นจมูกที่คดจนหายใจไม่ออก
  • การผ่าตัดทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ออก ใช้ในกรณีที่มีต่อมทอนซิลหรืออะดีนอยด์โตมากจนอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน
  • การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน (Uvulopalatopharyngoplasty: UPPP) เป็นการผ่าตัดเอาต่อมทอนซิล เพดานอ่อน ลิ้นไก่ออก เหมาะในกรณีที่มีปัญหาเรื่องลิ้นไก่และเพดานอ่อนหย่อนยานจนอุดกั้นทางเดินหายใจ
  • การผ่าตัดโคนลิ้น โดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงจี้บริเวณโคนลิ้น เหมาะในกรณีที่โคนลิ้นโตจนอุดกั้นทางเดินหายใจ
  • การผ่าตัดขากรรไกร (Maxillomandibular advancement: MMA) วิธีนี้ได้ผล 95-99% ในการรักษาเรื่องภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่การผ่าตัดอาจทำให้โครงใบหน้าเปลี่ยนได้

ดังนั้น หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการนอนกรน ก็อย่าชะล่าใจว่าไม่อันตราย ควรรีบพบแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

 

นพ.อุทัย ประภามณฑล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรม

ศีรษะ ลำคอ หลอดลม และกล่องเสียง
ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลพญาไท 3


นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...