อาการระหว่างตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้

พญาไท 2

1 นาที

ศ. 15/05/2020

แชร์


Loading...
อาการระหว่างตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้

ตลอด 9 เดือนของการตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนที่แปรปรวนไม่เพียงส่งผลต่ออารมณ์ แต่ยังส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์เกิดอาการต่างๆ ได้  และเพื่อให้สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข นี่คืออาการต่างๆ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ เพื่อหาวิธีรับมือได้อย่างถูกต้อง

 

อาการแพ้ท้อง

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าระดับฮอร์โมนที่สร้างจากรกมีระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศรีษะ เพลียมากกว่าปกติ บางท่านเบื่ออาหารท้องอืดง่าย  ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 3 เดือนแรก แต่ถ้ามีอาการแพ้ท้องรุนแรงมากก็ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อดูว่าเป็นการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือไม่ เช่น ครรภ์ไข่ปลาอุก ครรภ์แฝด เป็นต้น

วิธีรับมือ คือรับประทานอาหารมื้อละน้อยๆ แต่บ่อยขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารมันหรือของทอดเพื่อช่วยให้อาหารถูกย่อยได้ทัน ทำให้ลดอาการแพ้ท้องลงได้มาก ทั้งนี้แพทย์อาจให้ยาแก้แพ้ท้องในบางรายที่มีอาการรุนแรง

 

ฝ้าที่ใบหน้าและผิวคล้ำลง

เกิดจากฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ไปกระตุ้นเซลล์เม็ดสีใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดการรวมตัวมากผิดปกติในบางพื้นที่ของร่างกาย สีของผิวหนังจึงคล้ำตรงบริเวณใบหน้า ลำคอ รักแร้ เส้นกลางท้อง ลานนม และหัวนม แต่ช่วงหลังคลอดไปแล้ว 3-6 เดือนจะค่อยๆ จางจนหายไปเองได้ ส่วนหน้าท้องลายนั้นเกิดจากผิวหนังบริเวณหน้าท้องมีความยืดหยุ่นน้อย  ในช่วงที่มดลูกขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคนที่มีผิวแห้งง่าย  ทำให้เกิดรอยแยกของผิวหนังและเกิดอาการคันได้

วิธีรับมือ คือทาครีม โลชั่น หรือน้ำมันมะกอก เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื่นอยู่เสมอ ความยืดหยุ่นของผิวหนังก็จะเพิ่มมากขึ้น  อาการท้องลายก็จะเกิดได้น้อยหรือไม่มีเลย

 

อาการตกขาว

เกิดจากฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์เข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างมูกในช่องคลอดมากขึ้น ลักษณะเป็นสีขาวขุ่นไม่มีกลิ่นหรืออาการคัน และจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนคลอด แต่ถ้าตกขาวเป็นสีเหลือง-เขียว มีกลิ่นเหม็น หรือมีอาการคัน  ควรรีบปรึกษาแพทย์

 

อาการปวดหลัง

เกิดจากคุณแม่ต้องแบกน้ำหนักมดลูกและทารกที่ใหญ่ขึ้น  และยังมีสาเหตุมาจากการนั่งไม่ถูกสุขลักษณะ การสวมรองเท้าที่มีส้นที่สูงเกินไป การยกของหนัก (หรือบางท่านต้องอุ้มเด็ก)

วิธีรับมือ คือ ควรนั่งและฝึกกายบริหารให้ถูกท่า พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงสาเหตุที่อาจทำให้ปวดหลังดังกล่าว

 

อาการท้องผูก

เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อยเกินไปและผลจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนซึ่งถูกสร้างเพิ่มมากขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้การบีบตัวของลำไส้ใหญ่ลดลง ร่วมกับขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้นไปกดลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระแข็งและถ่ายยาก เป็นสาเหตุของการเกิดริดสีดวงทวารได้

วิธีรับมือ คือ ควรดื่มน้ำให้มาก  รับประทานผักและผลไม้เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์

 

ตะคริวที่น่อง

เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อที่น่องมากหรือมากเกินไป หรือมีการคั่งของลือดในบริเวณนั้นซึ่งเกิดจากการยืนหรือนั่งนานเกินไป ประกอบกับระดับของแคลเซียมในเลือดลดลงอันเนื่องจากส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ในการสร้างกระดูกของทารก

วิธีรับมือ คือ ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้มากขึ้น เช่น นมสด  กุ้งฝอย ปลาเล็กปลาน้อย นอกจากนี้การพักผ่อนในช่วงกลางวันและฝึกกายบริหารหรือนวดน่องบ้างหลังเดินมากๆ  ก็จะช่วยได้เช่นกัน

 

ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย

หลังจากเริ่มตั้งครรภ์เดือนเศษๆ ขึ้นไป คุณแม่ส่วนใหญ่อาจมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยนานๆ ครั้งต่อวัน (ไม่เกิน 5 ครั้งต่อวัน) เกิดจากมีการเกร็งตัวของมดลูกเล็กน้อยไม่รุนแรง พบได้ในภาวะปกติระหว่างการตั้งครรภ์ แต่ถ้ามีอาการปวดหน่วงบ่อยๆ เช่น มากกว่า 10 ครั้งในหนึ่งวัน หรือ 2-3 ครั้งต่อชั่วโมงติดต่อกันหลายชั่วโมง อาจเป็นสัญญาณเตือนของการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้  จึงควรรีบปรึกษาแพทย์

 

อาการบวมบริเวณขาหรือเท้า

โดยทั่วไปช่วง 3-4 เดือนก่อนคลอด คุณแม่บางท่านอาจมีอาการบวมบริเวณขาหรือเท้าได้เล็กน้อย สังเกตได้จากการใช้นิ้วมือกดที่หน้าแข้งหรือหลังเท้า ผิวหนังบริเวณนั้นจะเป็นรอยบุ๋มลงเล็กน้อย แต่ถ้ารอยบุ๋มนั้นค่อนข้างลึกหรือลึกมาก อาการบวมของขาหรือเท้านั้นอาจแสดงถึงภาวะผิดปกติบางอย่างได้  เช่น ครรภ์เป็นพิษหรือโรคไตบางชนิด ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ทันที

 

กรณีที่ขาหรือเท้าบวมเล็กน้อยในช่วงกลางวัน

วิธีรับมือ คือ ควรนั่งพักผ่อนเหยียดเท้าและหนุนสูงขึ้นระดับสะโพก  กลางคืนก่อนนอนหนุนเท้าให้สูงกว่าระดับแนวราบเล็กน้อย จะทำให้ขาหรือเท้าที่บวมยุบลงได้

 

 


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...
Loading...