ริดสีดวงทวารคือโรคชนิดหนึ่งที่สร้างความกังวลใจและรบกวนการใช้ชีวิตของคนไข้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความเจ็บปวดที่รบกวนทางกาย ความอายที่จะมาพบแพทย์ และกลัวในการรักษา แต่ปัจจุบันได้มีทางเลือกในการรักษามากมายที่ทำให้คนไข้หายขาด เจ็บตัวน้อยและฟื้นตัวได้ไว โดย
นายแพทย์ ธีรสันติ์ ตันติเตมิท ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ประจำโรงพยาบาลพญาไท 2 แนะนำว่าผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมก่อนระยะของโรคจะรุนแรงมากขึ้น
ริดสีดวงทวาร..ใครๆ ก็เป็นได้
เนื้อเยื่อริดสีดวงทวารประกอบด้วยหลอดเลือดดำ, เนื้อเยื่อที่มีความยืดหยุ่นสูง บริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่ และที่ขอบรูทวารหนักโป่งพองและยื่นออกมา โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัยแต่ส่วนใหญ่มักจะพบในคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ไม่ค่อยพบบ่อยในวัยรุ่น (โดยเฉพาะถ้าเป็นริดสีดวงภายใน)
ชนิดของริดสีดวงทวาร
- ชนิดเป็นภายใน คือ ริดสีดวงทวารที่เกิดเหนือ ประมาณ 1.5 – 2 cm. จากรูเปิดทวารหนักตามปกติจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและคลำไม่ได้ และมักจะถูกคลุมด้วยเยื่อลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุดไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่จะมีอาการเลือดออกและพบก้อนเป็นอาการหลัก
- ชนิดเป็นภายนอก คือ ริดสีดวงที่เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถมองเห็นและคลำได้ หลอดเลือดที่โป่งพองจะถูกคลุมด้วยผิวหนัง คนไข้จะมีอาการเจ็บและเลือดออก
การแบ่งระยะของริดสีดวงทวาร
โดยเป็นการแบ่งเฉพาะริดสีดวงภายใน ภายนอกจะไม่แบ่งเป็นระยะ
- ระยะที่ 1 มีเส้นเลือดดำโป่งพองในทวารหนักแต่ยังไม่มีอาการอะไรมาก อาจจะมีเลือดออกเวลาเบ่งอุจจาระหรือท้องผูก
- ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงโตมากขึ้น และรับรู้ได้ขณะที่ถ่ายอุจจาระ เริ่มมีหัวริดสีดวงผุดออกมา แต่สามารถหดกลับไปเองได้แต่อาจจะมีเลือดออกร่วมด้วย
- ระยะที่ 3 ก้อนริดสีดวงจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ออกมาข้างนอกมากขึ้น แต่กลับเข้าไปเองไม่ได้ เวลาถ่ายเสร็จจะต้องช่วยดันกลับเข้าไป บางทีต้องใช้เวลานานกว่าจะหดกลับเข้าไปเอง
- ระยะที่ 4 ริดสีดวงกำเริบมากและสามารถมองเห็นได้จากภายนอก มีการอักเสบ บวม และทำให้คนไข้นั่งไม่ได้ ไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก
- ภาวะท้องผูกเรื้อรัง
- ท้องเสียถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ
- อุปนิสัยเบ่งอุจจาระอย่างมากเพื่อพยายามขับอุจจาระก้อนสุดท้ายให้ออกไป
- อุปนิสัยใช้เวลานั่งถ่ายอุจจาระนาน เช่น อ่านหนังสือขณะถ่ายอุจจาระ
- กรณีไม่ทราบสาเหตุ..อาจพบว่าบุคคลที่มีประวัติในครอบครัวเป็นริดสีดวงทวารหนัก จึงมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าปกติ
แนวทางการรักษาริดสีดวงภายใน
แบบไม่ผ่าตัด
- รัดยาง การรัดยางเป็นการรักษาที่ไม่เจ็บมาก แต่จะรู้สึกหน่วงประมาณ 1-3 วัน เหมือนปวดท้องถ่าย การรัดยางจะช่วยให้ริดสีดวงระยะ 2-3 สามารถหดกลับไปยังระยะ 1 ได้ และกลายเป็นรอบแผลเป็น หลังจากรัดแล้วยางจะหลุดไปเอง แผลตรงที่รัดยางหดกลับไป ไม่ต้องเสียเลือด และไม่ต้องเย็บแผล
- ฉีดยา ช่วยให้เส้นเลือดแข็งและหดไป เป็นยาชนิดเดียวกันกับการรักษาเส้นเลือดขอด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการรัดยางแล้ว การรัดยางจะได้ผลที่แน่นอนและตรงจุดกว่า กรณีคนไข้เป็นริดสีดวงหลายหัวอาจจะไม่ทั่วถึงและไม่ได้ผลดีเท่ากับการรัดยางหรือผ่าตัด วิธีนี้จึงใช้รักษาเลือดออกเป็นหลัก
แบบผ่าตัด
- ผ่าตัดมาตรฐาน การผ่าตัดจะผ่าเอาก้อนเนื้อออกไปแล้วเย็บปิดปากแผล ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ขึ้นไป นอนรพ. ประมาณ 1-2 วัน และพักที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ งดออกกำลังกาย ไม่ต้องแช่ก้นในด่างทับทิมหรือแช่ในน้ำอุ่น สามารถใช้น้ำล้างได้ปกติ
- รักษาด้วยเลเซอร์ ต้องเจาะเข้าไปที่แผลเพื่อเลเซอร์เข้าไปทำลายริดสีดวง เจาะเข้าบริเวณข้างๆ แผล ไม่ได้ผ่าทวารหนักโดยตรง ขนาดรอยเจาะประมาณ 2-3 มิลลิเมตร หลังจากผ่าเสร็จไม่ต้องเย็บแผลหลังจากผ่าตัดสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ไม่ต้องพักฟื้นนาน และไม่ต้องแช่ก้นด้วยด่างทับทิม
- เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ เป็นเครื่องมือใช้แล้วทิ้ง ใช้เวลาน้อยในการผ่าตัด แต่ต้องทำโดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษาเพราะตำแหน่งที่ต้องตัดใกล้กับช่องคลอด วิธีนี้ทำได้เฉพาะคนที่เป็นริดสีดวงภายในเท่านั้น หลังการผ่าตัดใช้เวลาพักฟื้นแค่ 2-3 วัน และฟื้นตัวได้เร็ว
- การเย็บหลอดเลือดริดสีดวง วิธีนี้จะเจ็บน้อย แต่ต้องบล็อกหลังและดมยาสลับก่อนผ่าตัดต้องเปิดแผลเข้าไปแล้วก็เย็บหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงริดสีดวงเพื่อให้หดหรือฝ่อลง
แนวทางการรักษาริดสีดวงภายนอก
- ริดสีดวงภายนอกส่วนใหญ่จะเป็นแล้วหายเอง ไม่อันตรายมาก อาการที่พบบ่อยคือ ก้นเรียบอยู่แล้ว แต่เมื่อเบ่งก็เจ็บก้นและเกิดอาการอักเสบขึ้นมา แบบนี้เรียกว่าริดสีดวงภายนอกอักเสบ สามารถเป็นได้ทุกคนที่ติดนิสัยชอบเบ่ง หากเป็นแล้วไม่หายเองต้องมาผ่าเพื่อเอาลิ่มเลือดออก
- เมื่อก้อนเนื้อมันเติบโตมากขึ้นก็ต้องผ่าตัด เพราะเมื่อถ่ายบ่อยๆ จะยิ่งเจ็บมากขึ้น ไม่ต้องรอให้เป็นเยอะแล้วค่อยมาพบแพทย์ก็ได้ สามารถมาตรวจได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ต้องผ่าตัดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีวิธีอื่น และต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะโรคทวารหนัก การผ่าตัดต้องดูเป็นรายบุคคลไป
อาการหลังผ่าตัดริดสีดวงทวาร..ที่ควรรีบกลับมาพบแพทย์
- ถ่ายเป็นลิ่มเลือดปริมาณมากแต่ไม่ค่อยมีอุจจาระออกมา
- เจ็บแผลมาก ปวดตลอดเวลา ไม่ดีขึ้น
- มีหนองหรือน้ำเหลืองออกมาในปริมาณมาก
- มีไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ