การทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของแผลเป็นแต่ละชนิดนับเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากแผลแต่ละแบบมีสาเหตุ และวิธีการดูแลรักษาที่แตกต่างกัน สำหรับผู้ที่มีปัญหาแผลนูน (Hypertrophic Scar) และแผลคีลอยด์ (Keloid) ความรู้เหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้
แผลนูน (Hypertrophic Scar) & แผลคีลอยด์ (Keloid) คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร?
แผลนูน และแผลคีลอยด์เป็นแผลเป็นที่เกิดจากกระบวนการสมานแผล ที่มีการสร้างคอลลาเจนมากเกินไปเช่นเดียวกัน แต่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ดังนี้
ลักษณะ | แผลนูน (Hypertrophic Scar) | แผลคีลอยด์ (Keloid) |
ขอบเขตของแผล | นูนขึ้นเฉพาะบริเวณแผลเดิม ไม่ขยายออกเกินขอบเขตของแผล | นูนขึ้น และขยายออกเกินขอบเขตของแผลเดิม |
สีของแผล | สีแดง หรือชมพู อาจจางลงเมื่อเวลาผ่านไป | สีแดง ม่วง หรือน้ำตาล และอาจไม่จางลง |
อาการ | อาจมีอาการคัน หรือปวดเล็กน้อยในช่วงแรก แต่ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป | อาจมีอาการคัน ปวด และขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ |
โอกาสยุบตัวเอง | มีโอกาสยุบตัวลง ภายใน 6-12 เดือน แม้จะยังคงมีความนูนอยู่บ้าง | หายเองไม่ได้ และอาจขยายใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง |
สาเหตุหลัก | เกิดจากแผลอักเสบ หรือมีแรงตึงสูง เช่น แผลผ่าตัด แผลไฟไหม้ | มีปัจจัยทางพันธุกรรม และเกิดได้ง่ายแม้จากแผลเล็กๆ เช่น รอยเจาะหู สิวอักเสบ |
ตำแหน่งที่พบบ่อย | บริเวณที่มีการเคลื่อนไหวมาก เช่น ข้อศอก เข่า ไหล่ | บริเวณที่มีแรงตึงสูง เช่น หู หน้าอก บ่า คอ
และบริเวณอื่นๆ เช่น กราม กระดูกไหปลาร้า และกลางหลัง |
การรักษา | อาจดีขึ้นเอง หรือใช้ซิลิโคนเจล | มักต้องรักษาด้วยวิธีที่เข้มข้นกว่า เช่น ฉีดสเตียรอยด์ เลเซอร์ การผ่าตัดร่วมกับรังสีบำบัด |
ทั้งนี้ นอกจากแผลนูนและแผลคีลอยด์ ยังมีแผลเป็นประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น แผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไป (Depressed Scar) โดยเป็นร่อง หรือรูบุ๋มใต้ผิวหนัง หรือแผลเป็นที่มีการหดรั้ง (Scar Contracture) ทำให้เกิดการดึงรั้งอวัยวะบริเวณแผล เช่น แผลจากไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ซึ่งการรักษาจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป
ปัจจัยที่ทำให้บางคนเป็นแผลคีลอยด์ แต่บางคนไม่เป็น?
แม้ว่าสาเหตุการเกิดแผลคีลอยด์ (Keloid) ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความเสี่ยงในการเกิดแผลคีลอยด์ ดังนี้
- พันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเคยเป็นแผลคีลอยด์ เช่น พ่อ แม่ หรือพี่น้อง จะเพิ่มความเสี่ยง เนื่องจากมีแนวโน้มที่ร่างกายจะสร้างคอลลาเจนมากเกินไปเมื่อเกิดแผล
- ระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล ที่มีการกระตุ้นการหลั่งไซโตไคน์ และไฟโบรบลาสต์ให้ผลิตคอลลาเจนเกินจำเป็นในปริมาณที่ไม่เท่ากัน
- สีผิว ผู้ที่มีผิวสีเข้ม เช่น ชาวแอฟริกัน ละตินอเมริกัน และเอเชีย มีแนวโน้มเกิดแผลคีลอยด์มากกว่าผู้ที่มีผิวขาว ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเมลานิน (Melanin) และการตอบสนองต่อการอักเสบของแผล
- ฮอร์โมน และอายุ โดยเฉพาะวัยรุ่น และหนุ่มสาว หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนสูง
- ตำแหน่งของแผล มักเกิดในตำแหน่งที่มีความตึงของผิวหนังสูง หรือบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวบ่อย เช่น หน้าอก หัวไหล่ หลัง หู กราม และต้นแขน
- ประเภทของแผล แผลที่มีการอักเสบมาก เช่น แผลไฟไหม้ แผลจากสิวอักเสบลึก แผลผ่าตัด หรือรอยสัก และการเจาะหู
- การดูแลแผลในระยะเริ่มต้น มีผลต่อการป้องกันคีลอยด์ การทำความสะอาดแผลอย่างถูกต้อง แผลไม่เกิดการติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงการดึงแผล หรือทำให้แผลได้รับแรงตึงมากเกินไป จะช่วยลดโอกาสเกิดคีลอยด์ได้ ในทางตรงกันข้ามหากแผลหายช้า มีการอักเสบเรื้อรัง หรือเกิดการระคายเคืองบ่อยๆ เช่น มีการขัดถูแผลหรือถูกเสียดสีจากเสื้อผ้า จะกระตุ้นให้เกิดคีลอยด์ได้ง่ายขึ้น
วิธีรักษาแผลคีลอยด์ที่ช่วยให้แผลดูดีขึ้น
แม้ว่าแผลคีลอยด์จะรักษาให้หายขาดได้ยาก แต่มีหลายวิธีที่สามารถช่วยลดขนาดและเปลี่ยนลักษณะของแผลให้ดูดีขึ้น โดยแนวทางการรักษาจะเริ่มจากวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดก่อน (Conservative Treatment) ซึ่งสามารถรักษาได้มากกว่า 95% ของผู้ที่มีแผลในลักษณะนี้
การรักษาแบบอนุรักษ์ (Conservative Treatment)
- การใช้แผ่นซิลิโคนเจลปิดแผลหลังจากบาดแผลหายดีแล้ว ประมาณ 7 วัน ควรปิดตลอด 24 ชั่วโมง นาน 3 เดือน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ลดการอักเสบ และทำให้แผลเป็นจางลง
- แผ่นเทปเหนียว (Microporous Tape) ใช้แทนแผ่นซิลิโคนในบางกรณี ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ลดการอักเสบ และป้องกันแผลเป็นนูน
- การฉีดยาสเตียรอยด์ (Intralesional Steroid Injection) การฉีด Triamcinolone acetonide นิยมใช้เพื่อลดการอักเสบ และยับยั้งการสร้างคอลลาเจนที่มากเกินไป สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่แผลเริ่มมีลักษณะเป็นคีลอยด์ โดยเฉพาะภายใน 6 เดือนแรก เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด โดยฉีดเดือนละครั้ง หรือขึ้นกับการตอบสนองต่อการรักษา
การรักษาโดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์
- เลเซอร์บำบัด (Laser Therapy) การใช้เลเซอร์เช่น Pulsed Dye Laser (PDL) หรือ Fractional Laser ช่วยลดรอยแดง และทำให้แผลเป็นเรียบขึ้น จากการที่เลเซอร์ไปทำลายเส้นเลือดขนาดเล็ก และกระตุ้นกระบวนการฟื้นฟูของผิวหนัง ต้องทำซ้ำหลายครั้ง เพื่อให้ได้ผลดีมักใช้ร่วมกับวิธีอื่น เช่น การฉีดสเตียรอยด์ เพื่อให้ได้ผลที่ดีขึ้น
- การใช้ความเย็น (Cryotherapy) การใช้ไนโตรเจนเหลวเพื่อแช่แข็ง และทำลายเนื้อเยื่อคีลอยด์ ช่วยให้แผลค่อยๆ ยุบลง อาจรู้สึกเจ็บขณะรักษา และต้องทำซ้ำหลายครั้งเพื่อผลที่ดี
การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment)
- การตัดแผลเป็นออก (Surgical Excision) มักใช้กับแผลเป็นขนาดใหญ่ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ อาจใช้ร่วมกับการฉีดสเตียรอยด์ หรือการปิดแผลด้วยแผ่นซิลิโคน เพื่อลดเสี่ยงการเกิดซ้ำ
- การผ่าตัดแบบตัดทีละน้อย (Serial Excision) ใช้กับแผลเป็นขนาดใหญ่ โดยแพทย์จะค่อยๆ ตัดแผลออกเป็นระยะๆ เพื่อลดขนาดของแผลเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
- การขัดกรอผิวหนัง (Dermabrasion) ใช้กับแผลเป็นพื้นผิวขรุขระ เช่น แผลเป็นจากสิวอักเสบ หรือโรคสุกใส ซึ่งช่วยปรับผิวให้เรียบขึ้น แต่มีความเสี่ยงที่สีผิวอาจเข้มขึ้นหลังการรักษา
การฉายรังสี (Radiotherapy) การใช้รังสีปริมาณต่ำหลังการผ่าตัด ช่วยยับยั้งการสร้างคอลลาเจน ลดความเสี่ยงในการเกิดคีลอยด์ซ้ำ เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผลเป็นขนาดใหญ่ และเกิดซ้ำบ่อย
ทั้งนี้ การรักษาอาจเริ่มจากการใช้แผ่นซิลิโคน เทปเหนียว และการฉีดยาสเตียรอยด์ หากไม่ได้ผลอาจใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น เลเซอร์ ส่วนการผ่าตัดและการฉายรังสีมักเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะใช้เมื่อแผลมีขนาดใหญ่ หรือรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยการรักษาแผลคีลอยด์มักต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
แผลคีลอยด์สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่ มีวิธีป้องกันอย่างไร?
แผลคีลอยด์มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ อย่างไรก็ตามเราสามารถลดโอกาสการเป็นซ้ำได้ ดังนี้
- รักษาความสะอาดของแผล และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การใช้ยาทาเฉพาะจุด หรือแผ่นซิลิโคนเพื่อลดความเสี่ยงของการอักเสบ และป้องกันการเกิดแผลเป็นนูน
- หลีกเลี่ยงการขีดข่วน หรือกดทับแผลแรงๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำ
- การใช้แผ่นกดทับ (Pressure Therapy) หรือเสื้อผ้ารัดพิเศษ (Pressure Garment) เป็นวิธีที่ช่วยควบคุมการสร้างเนื้อเยื่อแผลเป็น เหมาะสำหรับแผลขนาดใหญ่ เช่น แผลไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ควรใส่ตลอด 6 เดือนถึง 1 ปีแรก หลังจากเกิดแผล
- การนวดแผลเป็น (Scar Massage) โดยใช้แรงกดที่เหมาะสม และอาจใช้ร่วมกับครีมหรือเจลลดแผลเป็น ช่วยลดการขยายตัวของแผลเป็นและทำให้แผลนุ่มขึ้น โดยควรเริ่มนวดบริเวณแผลอย่างสม่ำเสมอ ในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังจากแผลหาย เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด และลดโอกาสเกิดคีลอยด์
- การใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid Therapy) ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาทาสเตียรอยด์ร่วมด้วย เพื่อช่วยควบคุมแผลเป็นในระยะยาว
- พบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากแผลมีแนวโน้มจะกลับมาเป็นซ้ำ ควรเริ่มการรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้แผลลุกลาม
แผลคีลอยด์สามารถรักษาและลดความเสี่ยงในการเกิดซ้ำได้ ด้วยการดูแลที่เหมาะสมและเลือกวิธีรักษาตามหลักการแพทย์ หากคุณกังวลเกี่ยวกับแผลคีลอยด์ สามารถขอรับคำปรึกษาที่โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และแนวทางการรักษาที่ได้มาตรฐาน พร้อมเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เพื่อให้คุณได้รับการดูแลที่เหมาะสม ปรึกษาเราวันนี้ เพื่อความมั่นใจในการรักษาแผลของคุณ
ลงทะเบียน ปรึกษาแพทย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย คลิก
นพ. ศิขริน ศรพิพัฒน์พงศ์
ศัลยแพทย์เฉพาะทางการผ่าตัดผ่านกล้อง และการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน
โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน