เมื่อครั้ง นพ. บุรินทร์ อาวพิทยา เป็นศัลยแพทย์ทั่วไปอยู่นั้น คุณหมอพบว่าหนึ่งในโรคที่มีคนไข้เข้ามารักษาและผ่าตัดเป็นจำนวนมากก็คือโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และเมื่อดูจากสถิติก็เห็นว่า ในประเทศไทยมีคนไข้โรคมะเร็งสำไส้ใหญ่และทวารหนักมากขึ้นจนมาอยู่ที่อันดับสามของโรคมะเร็งทั้งหมด
“หมอเชื่อว่า. . . เมื่อคนไข้เป็นมะเร็งสำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก ก็ย่อมอยากจะรักษากับหมอเฉพาะทางที่มีความรู้ความชำนาญโดยเฉพาะ เมื่อเห็นว่าในประเทศไทยยังมีแพทย์ด้านนี้ไม่มากนัก และหมอก็เป็นศัลยแพทย์อยู่แล้ว จึงตัดสินใจศึกษาต่อในอนุสาขาศัลยกรรมสำไส้ใหญ่และทวารหนัก ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะหมอคิดว่า. . . การที่เราจะรักษาโรคอะไรก็ตาม การมีความรู้อย่างลึกซึ้งและหมั่นฝึกฝนเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา จะช่วยให้เราดูแลรักษาคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น”
นอกจาก นพ. บุรินทร์ จะเป็นศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญในทำการผ่าตัดส่องกล้องในหลายๆ โรคแล้ว คุณหมอยังศึกษาและพัฒนางานด้านการผ่าตัดส่องกล้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ทำการผ่าตัดในโรคที่มีความยุ่งยากซับซ้อนให้ได้ดียิ่งขึ้น คุณหมอจึงทำงานวิจัยและนำเสนอผลงานด้านการผ่าตัดผ่านกล้องในที่ประชุมของศัลยแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ และได้รับเชิญเป็นวิทยากร ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาและอาจารย์พิเศษที่แผนกศัลยกรรมลำไส้และทวารหนัก (Colorectal surgery) ที่รพ. ราชวิถี อีกด้วย
การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่หรือลุกลามมากแล้วจะมีความยุ่งยากซับซ้อน ในโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจไม่มีแพทย์เฉพาะทางหรือทีมสหสาขาวิชาชีพโดยเฉพาะ รพ. พญาไท 1 จึงมักได้รับการส่งตัวผู้ป่วยให้มาผ่าตัดรักษาบ่อยครั้ง บางครั้งการผ่าตัดต้องใช้เวลานานเป็น 10 ชม. เพราะต้องมีความละเอียดในการนำเซลล์มะเร็งออกให้หมด คุณหมอก็จะทำการผ่าตัดรักษาร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยและสำเร็จได้อย่างดี
ในด้านการป้องกันและคัดกรองโรคนั้น คุณหมอบอกว่า “คนไข้ที่มาพบหมอช้า บางครั้งก็เพราะมัวแต่อายหรือคิดว่าไม่ได้เป็นอะไรร้ายแรง จนทำให้เสียโอกาสในป้องกันหรือทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้น มีตั้งแต่โรคที่รักษาง่ายๆ อย่างริดสีดวงทวาร ฝีคัณฑสูตร หรือการตรวจคัดกรองอย่างการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ไปจนถึงการรักษาที่ต้องอาศัยการผ่าตัดทั้งที่เป็นมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง”
สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ คือเราควรสังเกตเรื่องการขับถ่ายของตนเอง หากมีความผิดปกติ อย่างเช่น มีเลือดออกขณะขับถ่าย หรือมีการขับถ่ายที่ผิดปกติต่อเนื่องนานๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ และหากอายุเลย 50 ปีแล้ว หรือมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก ก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง เพราะหากพบความผิดปกติเช่น มีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่หมอก็สามารถตัดออกได้ทันทีขณะส่องกล้องตรวจ เป็นการตัดวงจรไม่ให้ติ่งเนื้อนั้นพัฒนาไปเป็นมะเร็ง หรือหากพบติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อที่สงสัยว่ามีโอกาสเป็นเนื้อร้ายก็สามารถส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อวางแผน ติดตาม ป้องกัน และรักษาได้ทัน