ทางเดินอาหารก็เลือดออกได้

พญาไท 3

1 นาที

ศ. 27/03/2020

แชร์


Loading...
ทางเดินอาหารก็เลือดออกได้

เมื่อมีเลือดออกเรามักจะคิดถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผิวหนังภายนอก แต่คุณทราบหรือไม่อวัยวะภายในก็เกิดเลือดออกได้ โดยเฉพาะเลือดออกในทางเดินอาหาร เรื่องที่หลายคนคาดไม่ถึงสำหรับเลือดออกในทางเดินอาหารเกิดได้หลายสาเหตุ บางครั้งไม่ถึงชีวิต แต่บางกรณีถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว สาเหตุของเลือดออกโดยทั่วไปรักษาควบคุมได้ เช่น ริดสีดวง ซึ่งเป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น เพราะทางเดินอาหารคนเราประกอบไปด้วยหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งอาจเกิดมีเลือดออกได้ ในอวัยวะเหล่านี้โดยที่เราไม่ทราบ

เลือดออกในทางเดินอาหารได้อย่างไร

สาเหตุต้องแบ่งเป็นทางเดินอาหารส่วนบน(หลอดอาหาร,กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น) สาเหตุมักเป็นจากกรดในกระเพาะที่มากขึ้น หรือมีการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (Helicobacter pylori) หรือการรับประทานยาแก้ปวด ยาละลายลิ่มเลือด  โดยเฉพาะ Aspirin ทำให้เกิดการอักเสบหรือแผลที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก   กรดที่มากขึ้นในกระเพาะอาจจะย้อนไปที่บริเวณหลอดอาหาร  จนเกิดการอักเสบหรือแผลขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีหูรูดที่ปลายหลอดอาหารไม่หดตัวได้ดีเหมือนปกติ  นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น เส้นเลือดโป่งพอง (Varices) ที่หลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เนื้องอกหรือมะเร็งของทางเดินอาหารส่วนบน การฉีกขาดของหลอดอาหารจากกการขย่อนและอาเจียนอย่างรุนแรง เป็นต้น

 

ส่วนสาเหตุของเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่างนั้นมีสาเหตุได้มากมาย ตั้งแต่ริดสีดวงทวาร เลือดออกจากกระเปาะในลำไส้ใหญ่, ลำไส้เล็ก    ลำไส้ใหญ่)  เส้นเลือดที่ขยายตัวผิดปกติบริเวณเยื้อบุลำไส้ แผลในลำไส้ รวมถึง  เนี้องอกและมะเร็ง

อวัยวะใดของทางเดินอาหารที่พบมีเลือดออกบ่อย

  • ทางเดินอาหารส่วนบน เลือดออกจาก แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นและในกระเพาะอาหารมากที่สุด
  • ทางเดินอาหารส่วนล่าง เลือดจะออกจากริดสีดวงบ่อยที่สุด ถัดไปเป็นจากลำไส้ใหญ่

ทราบได้อย่างไรว่ามีเลือดออก

ตำแหน่งและความรุนแรง ถ้าเลือดออกจากลำไส้ใหญ่ส่วนล่างหรือทวารหนักมักจะเป็นเลือดสีแดงปนกับอุจจาระหรือหยดออกตามหลังอุจจาระ  กรณีถ้าเลือดออกจากลำไส้ใหญ่หรือส่วนปลายลำไส้เล็กจะเห็นอุจจาระเป็นสีดำปนแดง  แต่ถ้าเลือดออกจากหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้นอุจจาระจะออกมาเป็นสีดำ  และอาจจะมีอาเจียนเป็นสีแดงหรือดำคล้ายกาแฟได้  สำหรับความรุนแรงถ้าเลือดออกรุนแรงมาก สามารถถ่ายเป็นสีแดงได้ไม่ว่าจะออกจากส่วนใดของทางเดินอาหาร แต่ถ้าเลือดออกปริมาณน้อยหรือค่อย ๆ ซึมช้า ๆ อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า  ต้องตรวจโดยใช้วิธีการพิเศษจึงทราบว่ามีเลือดปนออกมา , อาการอื่น ๆ ที่อาจจะมีร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย หน้ามืดเป็นลม ถ้ามีระดับความเข้นข้นเลือดในตัวผู้ป่วยลดลงอย่างมาก

 

การซักประวัติและตรวจร่างกาย จะช่วยชี้ว่า  เลือดน่าจะออกจากส่วนใดในทางเดินอาหารและนำไปสู่การวินิจฉัย สาเหตุและให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง

 

การส่องกล้องตรวจ (Endoscopy )

การส่องกล้องจะสามารถระบุตำแหน่งที่เลือดออก ทั้งสามารถห้ามเลือดที่กำลังออกได้ กล้องที่ใช้ส่องตรวจเป็นท่อสามารถโค้งงอได้ สามารถใส่เข้าปากหรือทวารหนักช่วยให้แพทย์เห็นหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก  ( Esophagogastroduodenoscopy) ลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscopy) สามารถเก็บชิ้นเนื้อตรวจ  ( Biopsies ) ถ่ายภาพและหยุดเลือด

การตรวจวิธีอื่นๆ

  • การกลืนหรือสวนแป้ง x-ray บอกตำแหน่งเลือดออกได้แต่ไม่ดีเท่าการส่องกล้อง การกลืนหรือสวนแป้งจะรบกวนการตรวจวิธีอื่น แป้งจะค้างอยู่ในลำไส้
  • การ x-ray ไม่สามารถตรวจชิ้นเนื้อและรักษาหยุดเลือดออกได้
  • การฉีดสีเข้าเลือด เป็นการดูตำแหน่งที่สีรั่วออกมาจากหลอดเลือด เพื่อช่วยหาตำแหน่งที่มีเลือดออก วิธีนี้ยังใช้ในการรักษาโดยใช้ยาเข้าในหลอดเลือดเพื่อหยุดเลือดออกได้
  • การใช้สารกัมมันตรังสี เป็นการตรวจหาตำแหน่งของเลือดออกในกรณีที่เลือดค่อยๆ ออก

การรักษาภาวะเลือดออก

การส่องกล้องตรวจจะสามารถทราบสาเหตุและให้การรักษาได้โดยเฉพาะขณะที่เลือดกำลังไหลออกอยู่ เช่น ฉีดยาทางเข็มที่ใส่ผ่านกล้อง  ใช้ความร้อนจี้บริเวณที่มีเลือดออก คลิปเพื่อหนีบหลอดเลือด  การใช้ห่วงยางรัดหลอดเลือด

นอกจากนี้อาจมีการรักษาโดยให้ยาบางชนิด เพื่อลดความเสี่ยง ทำให้แผลหายเร็วขึ้น รวมถึงการกำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ( Helicobacter pylori) ก็ลดความเสี่ยงในการเกิดแผลซ้ำ

 

กรณีเลือดออกจากริดสีดวงอาจให้การรักษาโดยการรัดหัวริดสีดวง ฉีดยา หรือจี้ไฟฟ้าได้ แต่เมื่อให้การรักษาโดยการส่องกล้องและยังไม่สามารถหยุดเลือดได้หรือเลือดหยุดไปแล้วออกซ้ำ  อาจจะต้องมีการรักษาอื่น ๆ เช่น การฉีดสีเข้าหลอดเลือดหรือการผ่าตัดร่วมด้วย

 

การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ตรงเวลา และต้องให้ความใส่ใจทั้งภายนอกและภายใน สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายอยู่เสมอ อย่าละเลยอาการที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะอาการแม้เพียงเล็กน้อย อาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

 

 
 
นพ.วิริยะ ตันเยาวลักษณ์
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร
ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหารและโรคตับ
โรงพยาบาลพญาไท 3

นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...