การเจาะกุ้งยิงหรือหนองที่เปลือกตา

พญาไท 2

1 นาที

พ. 20/05/2020

แชร์


Loading...
การเจาะกุ้งยิงหรือหนองที่เปลือกตา

ตากุ้งยิง เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยมักเกิดบริเวณเปลือกตาด้านบนและเปลือกตาด้านล่าง ทำให้มีอาการเจ็บปวดตรงที่เป็นตุ่มหรือถุงหนอง ซึ่งนอกจากการใช้ยาปฏิชีวนะ การเจาะหนองที่อยู่บริเวณเปลือกตาออกก็เป็นอีกวิธีที่ให้การอักเสบหายเร็วขึ้นได้

 

ทำไมถึงต้องเจาะหนองที่เปลือกตา ?

  1. เพื่อลดการเกิดความผิดรูปร่างของเปลือกตา (แผลสวยกว่าปล่อยให้แตกเอง)
  2. เพื่อช่วยให้การอักเสบหายเร็วขึ้น

กรณีที่พบถุงหนองชัดเจน อาจเริ่มต้นการรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ ทั้งยาป้ายและยารับประทาน แต่หากไม่ยุบแนะนำให้เจาะออก

 

ตากุ้งยิง หากไม่ยุบแล้วปล่อยเรื้อรัง…อาจเกิดผลกระทบรุนแรง

หากหนองไม่ยุบแล้วคนไข้ยังไม่เข้ารับการเจาะออก อาจเกิดแผลเป็นลักษณะคล้ายก้อนเนื้องอกที่เปลือกตา (เกิดจากการที่หนองแตกเอง) ซึ่งต้องมาผ่าตัดแก้ภายหลังและทำให้เป็นแผลเป็นตามมา

 

ขั้นตอนในการเจาะหนองในตากุ้งยิง

  1. หยอดยาชา 2-3 ครั้ง ที่ตาข้างที่จะทำการเจาะ (เพื่อเตรียมการเจาะหนองภายใต้เครื่องมือปลอดเชื้อโรค)
  2. ฉีดยาชาลงบนผิวเปลือกตาบริเวณใกล้เคียงกับตุ่มหนองอย่างเบามือ และเลือกใช้เข็มเบอร์เล็กสุด
  3. เมื่อแพทย์ทดสอบว่ามีอาการชาเรียบร้อยแล้ว จึงดำเนินการเจาะเอาหนองออก (โดยวิธีปราศจากเชื้อ)
  4. หลังจากเจาะหนองเรียบร้อย ใส่ยาฆ่าเชื้อและตามด้วยปิดตาแน่น ประมาณ 3 ชั่วโมง (เพื่อหยุดเลือดจากแผล) หากผู้ป่วยขับรถมา อาจปิดตาแน่นเพียง 30 นาที – 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นค่อยเปิดผ้าออกได้ (ต้องไม่มีภาวะเลือดออกง่าย)

 

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยตากุ้งยิง

ก่อนทำ

  • งดยากลุ่มที่ทำให้เลือดออกง่าย เช่น ยาละลายลิ่มเลือด, ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID, ยาหรืออาหารเสริมที่มี Omega 3, วิตามินอี, ยาสมุนไพร (โสม, เห็ดหลินจือ) โดยงดก่อนทำการเจาะหนอง 7 วัน เนื่องจากยากลุ่มดังกล่าวจะทำให้เกิดความเสี่ยงเลือดออกมากขณะเจาะหนองออก หรือเลือดหยุดช้า

หลังทำ

  • ใช้ชีวิต ประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ระมัดระวังอย่าให้แผลโดนน้ำ ประมาณ 7 วัน (ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่แผล)
  • หยอดยาและป้ายยาฆ่าเชื้อ ตามแผนการรักษาของแพทย์ อย่างน้อย 7 วัน หากยังพบการอักเสบ ให้หยอดยาและป้ายยาเพิ่มอีก 7 วัน รวมเป็น 14 วัน (หากไม่แน่ใจให้กลับมาพบแพทย์เพื่อดูอาการ)
  • งดกีฬาทางน้ำ หรือกีฬาที่เหงื่อออกมาก หรือ โดนฝุ่น / ลมมาก รวมทั้งกีฬาที่ต้องออกแรงมากประมาณ 7 วัน เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ หรือเลือดออกซ้ำ (เสียเวลาในการรักษาเพิ่มขึ้น)

 

อาการข้างเคียงของโรคตากุ้งยิงที่อาจพบได้

  1. เปลือกตาอาจเขียวช้ำจากการเจาะ
  2. เกิดหนองซ้ำ เนื่องจากการไม่รักษาความสะอาดหรือเชื้อจากหนองดื้อต่อยาฆ่าเชื้อ (เชื้อที่พบแต่ละคนแตกต่างกัน)
  3. เกิดแผลเป็นบริเวณที่เจาะ (อาจเกิดจากผู้ป่วยมีลักษณะผิวที่มีแนวโน้มเป็นแผลเป็นง่าย และในผู้ป่วยเบาหวานหรือสุขภาพไม่แข็งแรงมักพบว่ามีแนวโน้มแผลหายยากกว่าบุคคลทั่วไป)
  4. ผิวกระจกตาดำถลอก (เกิดได้น้อยมาก) สาเหตุจากปิดตาไม่สนิท/แน่นพอ หรือ ผู้ป่วยเปิดตาเองก่อนถึงเวลาเปิดแล้วปิดตาซ้ำเอง ทำให้ผ้าปิดตาถูกับกระจกตาได้ ควรปิดตาตามเวลาที่กำหนด และควรให้เจ้าหน้าที่แผนกตาเป็นผู้ปิดตาให้
  5. ปวดตาจากแผลที่เจาะ กรณีนี้สามารถทานยาแก้ปวด กลุ่ม Paracetamol ได้ กรณีที่ปวดมากควรกลับมาพบแพทย์

 

หมายเหตุ กรณีเจาะตากุ้งยิงในเด็กที่ยังไม่สามารถให้ความร่วมมือหรือกลัวมาก แนะนำว่าควรดมยาสลบ เพื่อความปลอดภัย (ลดอุบัติการณ์การเกิดเข็มทิ่มตาขณะฉีดยาชา)


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...