ผื่นผ้าอ้อมในเด็ก เรื่องเล็กที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ

พญาไท 3

1 นาที

พฤ. 26/03/2020

แชร์


Loading...
ผื่นผ้าอ้อมในเด็ก เรื่องเล็กที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ

คุณพ่อคุณแม่ลูกอ่อนมักมีความกังวลใจในการดูแลทารกแรกเกิด เพราะเด็กจะมีผิวที่บอบบางและแพ้ง่าย โดยเฉพาะในเรื่องของ “ผื่นผ้าอ้อม” ที่หลายครอบครัวพบเจอ

 

ผื่นผ้าอ้อม คืออะไร? 

“ผื่นผ้าอ้อม” (Diaper dermatitis หรือ Nappy rash) คือผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดขึ้นบนบริเวณที่เด็กสวมใส่ผ้าอ้อม พบมากในเด็กวัยทารก โดยเฉพาะช่วงอายุ 9-12 เดือน ผื่นผ้าอ้อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบมากคือการอักเสบจากการระคายเคืองสัมผัส (irritant contact dermatitis)

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อม

ปัจจัยกระตุ้นสำคัญเกิดจากการสัมผัสปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเวลานาน ผิวหนังจึงเกิดความอับชื้น มีการเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นกรด-ด่างของผิวหนัง ร่วมกับสารที่ทำให้เกิดความระคายเคืองต่างๆ ในอุจจาระ เช่น lipase, protease  หรือ แอมโมเนียในปัสสาวะ เมื่อมีการเสียดสีจึงทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ แดง เป็นแผล และทำให้เกิดการติดเชื้อ bacteria และ เชื้อรา แทรกซ้อนได้

 

อาการของผื่นผ้าอ้อมเป็นอย่างไร ?

ผื่นแดงบวมบริเวณที่มีการเสียดสี สัมผัสกับผ้าอ้อม โดยเฉพาะผิวหนังส่วนที่นูน เช่น แก้มก้น อวัยวะเพศ ด้านในของต้นขา ท้องน้อย และมักจะไม่พบผื่นบริเวณซอกร่องของผิวหนัง เช่น ร่องก้น ขาหนีบ  ในระยะแรกอาจพบเพียงผื่นแดงเล็กน้อย ต่อมาเมื่อมีการอักเสบมากขึ้นก็จะแดงขึ้น พื้นที่รอยโรคขยายมากขึ้นจนเป็นรอยถลอก และบางรายอาจแดงจัดหรือเป็นแผลถลอกลึกได้ (ulcer) เด็กจะมีอาการงอแงเพราะเจ็บแผล หากผื่นไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนทั้งเชื้อรา Candida albicans หรือ เชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ได้

 

ป้องกันผื่นผ้าอ้อมได้ไม่ยาก…

หลักการป้องกันผื่นผ้าอ้อม คือทำให้บริเวณผิวหนังบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมสะอาดและแห้งอยู่เสมอ เช่น

    1. เปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งที่เปียกชื้น และทันทีที่เด็กถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ
    2. ทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่มีส่วนประกอบของน้ำหอมและแอลกอฮอล์ แล้วซับให้แห้ง
    3. หลีกเลี่ยงการใช้แป้ง เพื่อลดการเสียดสี และเนื้อแป้งยังก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจได้
    4. ถ้าใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ควรเลือกที่มีคุณสมบัติดูดซับได้ดี (super-absorbent diaper)
    5. ใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวหนัง ( Barrier ointment ) ที่มีส่วนประกอบของ zinc oxide, titanium oxide, lanolin, dexpanthenol, petroleum jelly  และไม่ควรมีสารกันบูด น้ำหอม หรือ antiseptic ใดๆ

 

การรักษาผื่นผ้าอ้อม

    1. การรักษาผื่นผ้าอ้อมขึ้นอยู่กับความรุนแรงของตัวโรค ถ้าเป็นผื่นแดงเล็กน้อย ใช้การทำความสะอาด เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ และใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวอย่างเหมาะสม ก็จะดีขึ้น
    2. ถ้าผื่นดูแดงอักเสบมาก พิจารณายาทาต้านการอักเสบชนิดอ่อน ( low-potency topical steroid ) ทาวันละ 2 เวลา เช้า เย็น
    3. การรักษาควรทำควบคู่กับการป้องกันการเกิดผื่นผ้าอ้อม เพื่อให้การรักษาได้ผลเร็วและป้องกันการเกิดผื่นใหม่
    4. ถ้ารักษาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน ควรต้องระวังการติดเชื้อแทรกซ้อน ทั้งแบคทีเรียและเชื้อรา ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการป้องกันและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

แชร์