โรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน เป็นโรคติดเชื้อที่สามารถติดต่อได้ผ่านทางการสัมผัสจากสิ่งแวดล้อมหรือผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่ ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้…มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ การฉีดวัคซีนรวมจึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดป้องกันความเสี่ยงจากโรคเหล่านี้ได้
โรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน สามโรคนี้…อันตรายถึงชีวิตได้นะ
-
- โรคบาดทะยัก เกิดจากพิษของเชื้อบาดทะยักที่มีอยู่ตามสิ่งแวดล้อมทั่วไป เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น ขากรรไกรแข็ง คอแข็ง ชักเกร็ง หายใจลำบาก รุนแรงจนเสียชีวิตได้
- โรคคอตีบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งหรือละอองฝอยจากจมูก ลำคอ ของผู้ป่วยหรือพาหะ ซึ่งทำให้ลำคออักเสบรุนแรง เกิดเป็นพังผืดอุดกั้นทางเดินหายใจ และอาจทำให้หัวใจวายได้
- โรคไอกรน หรือโรคไอร้อยวัน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งหรือละอองฝอยจากจมูก ลำคอ ของผู้ป่วยหรือพาหะ ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ มีอาการไอมาก ไอต่อเนื่อง จนหายใจลำบาก ในเด็กเล็กอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หยุดหายใจ ไอจนซี่โครงหัก ส่งผลให้เสียชีวิตได้
วัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน
วัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน ทำมาจากพิษของเชื้อบาดทะยัก เชื้อคอตีบ และส่วนประกอบของเชื้อไอกรน ไม่ทำให้เกิดโรคในผู้ที่ได้รับวัคซีน ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน 1 ครั้ง
ใคร “ควร” ได้รับวัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน
กรณียังไม่เคยรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาก่อน ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก 3 ครั้งที่ 0,1,6 เดือน จากนั้นกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี โดยสำหรับผู้ที่อายุ 19-64 ปี ที่มีข้อบ่งชี้ในการรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ควรพิจารณาใช้วัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน แทนวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก หรือวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก 1 ครั้ง โดยจะแทนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครั้งใดก็ได้ เพียงหนึ่งครั้ง
ใคร “ควรงดหรือเลี่ยง” รับวัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน
ผู้ที่มีภาวะดังต่อไปนี้ ควรงดรับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก
-
- เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจากการฉีดวัคซีนที่มีส่วนผสมของวัคซีนป้องกันบาดทะยัก หรือ โรคคอตีบ หรือ โรคไอกรนในครั้งก่อน หรือแพ้ต่อส่วนผสมต่าง ๆ ในวัคซีน ควรงดรับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก
- เคยมีความผิดปกติทางสมอง เช่นโคม่า ระดับความรู้สึกตัวลดลง ชักเป็นเวลานาน โดยไม่ทราบสาเหตุ ภายใน 7 วัน หลังได้รับวัคซีนเข็มก่อนที่มีส่วนผสมประกอบของเชื้อไอกรน ควรงดรับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก
- หากมีไข้ หรือป่วยเฉียบพลัน ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน รอให้หายป่วยก่อนจึงค่อยมารับวัคซีน
- กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังรับวัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน
วัคซีนก็เหมือนกับยา ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม อันตรายหรืออาการแพ้อย่างรุนแรงจากวัคซีนพบได้น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ที่รับวัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน มักไม่มีปัญหาใด ปฏิกิริยาที่อาจพบหลังการฉีดวัคซีน ได้แก่ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งมักหายเองภายใน 1-2 วัน นอกจากนี้อาจพบ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย รู้สึกอ่อนเพลียได้ หากมีอาการปวด บวม บริเวณที่ฉีดวัคซีนให้ประคบเย็น แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นนอกเหนือจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์
หมายเหตุ :
-
- ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับการให้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
- การพิจารณาให้และรับวัคซีนในขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตร ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีน
- หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์