Abdominal pain (อาการปวดในช่องท้อง)
อาการปวดท้อง มักแสดงถึงความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องท้อง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ หลายโรค และหลายอวัยวะ ในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นนั้น แพทย์จะซักถามและตรวจอาการของผู้ป่วยว่าปวดท้องในตำแหน่งไหน เพื่อการคาดหมายถึงโรคที่น่าจะเป็นได้ในลำดับแรกๆ และทำการตรวจเพิ่มเติมในส่วนที่จำเป็นเพื่อสรุปโรคและวางแนวทางการรักษา
ปวดท้องแบบไหน? ที่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ปกติแล้ว หากผู้ป่วยมีอาการปวดท้องที่ไม่รุนแรง เช่น เป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารทั่วไปอาการก็จะดีขึ้นได้เองภายใน 2-3 วัน กรณีที่อาการปวดไม่ดีขึ้น ยังคงปวดต่อเนื่อง หรือปวดรุนแรงขึ้น แนะนำว่าควรรีบมาพบแพทย์ เพราะอาจจำเป็นต้องตรวจหรือใช้เครื่องมือทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยโรค และรีบรักษาอย่างตรงจุดก่อนที่อาการจะลุกลามรุนแรง
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเมื่อกลับบ้านแล้ว
- ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง โดยหลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง งดการใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบในกลุ่ม NSAID และ Aspirin
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ตรงเวลาและครบ 3 มื้อ
- รับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย
- หลักเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด อาหารมัน ของทอด ของหมักดอง ชา กาแฟ น้ำอัดลม นม
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการรับประทานแล้วนอนทันที โดยทิ้งเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
- ควรรับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ที่มีกากใยมากๆ และดื่มน้ำให้มาก
สังเกตอาการต่อเนื่อง หากรู้สึกว่ามีความผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบกลับมาพบแพทย์
หลังได้รับการรักษาและกลับบ้านแล้ว ผู้ป่วยยังควรสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง เพราะส่วนใหญ่แล้วหากไม่ป่วยรุนแรงอาการควรจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ กรณีเกิดอาการเหล่านี้ ควรรีบกลับมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
- อาการปวดแย่ลง ทานยาตามแพทย์สั่งแล้วอาการไม่ทุเลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีจุดเจ็บปวดเฉพาะที่ หรืออาการปวดย้ายตำแหน่งอย่างเฉพาะเจาะจง ปวดย้ายที่จากตรงกลางท้องมาเป็นด้านขวาล่าง ปวดรุนแรงขึ้น ปวดตลอดเวลา
- กลับมามีไข้ใหม่ หรือไข้สูงขึ้น
- อาเจียนเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ
- มีอาการเวียนศีรษะหรือหน้ามืด รู้สึกเหมือนจะเป็นลม
- คลื่นไส้อาเจียนหลายครั้ง อาเจียนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว ร่วมกับอาการไม่ถ่ายหรือไม่ผายลม เบื่ออาหาร ทานอาหารไม่ได้
- กรณีสูญเสียน้ำจากอาการท้องเสียหรืออาเจียนหลายครั้ง ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงของภาวะขาดน้ำได้ เช่น กระหายน้ำ ปากแห้ง ปัสสาวะออกลดลง ปัสสาวะสีเข้ม ตาโหล หายใจเร็ว ง่วงซึม สับสน ปลายมือปลายเท้าเย็น