โรคแพนิก (Panic Disorder) ถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่ได้รับความสนใจในยุคปัจจุบัน ยิ่งในยุคข่าวสารบ้านเมืองไปไวมาไวแบบนี้ อาการตื่นตระหนกตกใจก็เกิดขึ้นถี่ยิ่งกว่าดอกเห็ด แต่รู้ไหมว่าอาการที่เราชอบพูดกันว่า “อย่ามาแพนิกน่ะ” แท้จริงแล้วมันคือโรคที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ และโรคแพนิกนี้ก็ไม่ใช่แค่นิสัยขี้ตระหนกตกใจ อย่างที่ชาวเน็ต ชาวโซเชียลยุคนี้เป็นกันด้วย
โรคแพนิก หรือ Panic Disorder คืออะไร ?
โรคที่เกิดจากฮอร์โมนลดหรือเปลี่ยนแปลงกระทันหัน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เหมือนไฟฟ้าลัดวงจร ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของร่างกายในหลายๆ ส่วน จึงเกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจไม่ทัน ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม และเป็นอาการที่เกิดขึ้นฉับพลันโดยที่ไม่มีสาเหตุหรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ นั่นทำให้บางคนที่มีอาการมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และผู้ป่วยโรคแพนิกมักจะรู้ตัวว่าเป็นโรคแพนิกก็ต่อเมื่อมีอาการดังกล่าวไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็ก แล้วพบว่าหัวใจแข็งแรงเป็นปกติ แพทย์จะสงสัยและอาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิก
อาการของโรคแพนิก
- ใจสั่น ใจเต็นแรง แน่นหน้าอก
- เหงื่อออกมาก หนาวๆ ร้อนๆ
- หายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม
- วิงเวียน โคลงเคลง รู้สึกตัวลอย คล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย
- ควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้
เมื่อมีลักษณะอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นและสงสัยว่าอาจเป็นโรคแพนิก สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือการไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด แม้ว่าโรคแพนิกจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคนั้นไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน
ถึงจะไม่อันตราย… แต่ก็ต้องรักษา
โรคแพนิกรักษาได้ด้วยการทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือรักษาด้วยการทำจิตบำบัดซึ่งอาจหาต้นเหตุของความกลัวได้ แต่ผู้ป่วยก็สามารถลดความวิตกกังวลของตนเองได้เช่นกัน เช่น การฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ เมื่อเกิดอาการ หรือควบคุมอาหารบางประเภทที่กระตุ้มให้อาการกำเริบอย่างคาเฟอีนหรือน้ำอัดลม
การรักษาที่ได้ผลดีคือการรักษาแบบองค์รวม นอกจากรับประทานยาอย่างต่อเนื่องแล้ว จำเป็นต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย โดยให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบำบัด ปรับแนวคิด ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ ให้พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตก ดูแลจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งมีความสุขกับทุกวันและดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม
เริ่มต้นดูแลตัวเองแบบง่ายๆ ด้วยการงดพฤติกรรมเหล่านี้
- การใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเร่งรีบ
- กินนอนไม่เพียงพอและไม่เป็นเวลา
- ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป