ในปัจจุบัน การฟอกสีฟัน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงานที่ต้องพบปะผู้คน การมีรอยยิ้มที่สดใส ฟันสะอาดสวยก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งสาเหตุของสีฟันที่ดูไม่สะอาด ไม่ขาวใส มีคราบเหลืองจนเกิดความไม่น่ามอง อาจเกิดได้ทั้งจากการดื่มชากาแฟเป็นประจำ หรือการรับประทานอาหารรสจัดและมีสีเข้มบ่อยๆ การฟอกสีฟันให้กลับมาขาวใสจึงเป็นคำตอบในการแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี
การฟอกสีฟันคืออะไร…ทำไมจึงต้องฟอกสีฟัน?
การฟอกสีฟัน คือ การดูแลสุขภาพฟันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีฟันที่ขุ่นมัวให้กลับมามีความขาวกระจ่างใสเหมือนสีฟันดั่งเดิม เพื่อการมีรอยยิ้มที่ดูดีน่ามอง ด้วยการใช้สารที่เรียกว่า Hydrogen peroxide ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์สำหรับการฟอกสีฟัน ไปทำให้เกิดปฏิกิริยากับสารเคลือบบนผิวฟันหรือในเนื้อฟันให้แตกตัวออก ทำให้ฟันดูขาวกระจ่างใสขึ้นโดยไม่เป็นอันตรายใดๆ
การฟอกสีฟันเหมาะกับใครบ้าง?
- ผู้ที่มีสีฟันเหลืองหรือขุ่นมัวที่เกิดจากคราบฟันหรือเป็นสีฟันตามธรรมชาติ
- ผู้ที่ดื่มชา กาแฟ หรือน้ำอัดลมเป็นประจำ
- ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน มีอาชีพที่ต้องใช้รอยยิ้ม พูดคุย และติดต่อประสานงานต่างๆ
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด
- ผู้ที่มีเนื้อฟันสีเหลืองจากยาปฏิชีวนะ
ใครบ้างไม่ควรฟอกสีฟัน?
- หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
- มีอายุน้อยกว่า 16 ปี เพราะโพรงประสาทฟันกำลังมีการเจริญเติบโต อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเมื่อฟอกสีฟัน
- ผู้ป่วยโรคเหงือก
- ผู้ที่มีปัญหาเสียวฟัน ฟันผุ อุดฟัน หรือมีปัญหาอื่นๆ ในช่องปาก ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนฟอกสีฟัน
ฟอกสีฟันทำให้ฟันขาวขึ้นจริงหรือไม่?
การฟอกสีฟันช่วยให้ฟันขาวขึ้นได้จริง และยังเป็นหนึ่งในหัตถการที่มีผู้รับบริการให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการฟอกสีฟันนั้นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลฟันด้วยวิธีอื่นๆ ถือเป็นการดูแลรักษาสุขภาพฟัน Dental One Day Solution ที่ทำให้ฟันกลับมาขาวสะอาด สดใส ยิ้มแล้วดูดีมีเสน่ห์ ส่งเสริมให้มีบุคลิกภาพที่ดีด้วยการทำฟันเพียงวันเดียว ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีความสนใจ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อวินิจฉัยถึงความพร้อมของสภาพฟันและสุขภาพช่องปาก เพื่อความปลอดภัยและผลการรักษาที่ดีที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งโดยทั่วไป ผลลัพธ์จากการฟอกสีฟันจะอยู่ได้ยาวนานประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับระดับสีที่เป็นอยู่ของฟัน น้ำยาฟอกสีฟัน รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ และการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของแต่ละบุคคลหลังทำการฟอกสีฟัน
การฟอกสีฟันมีผลข้างเคียงหรือไม่?
การฟอกสีฟัน จะไม่ส่งผลอันตรายต่อโครงสร้างฟัน และไม่ได้ทำให้ผิวฟันเปราะบางลงด้วย แต่อาจจะมีอาการเสียวฟันในระหว่างทำและหลังทำได้ ซึ่งอาการจะหายไปภายใน 1-2 วัน
ข้อควรปฏิบัติเมื่อต้องฟอกสีฟัน
ก่อนฟอกสีฟัน | ระหว่างฟอกสีฟัน | หลังฟอกสีฟัน |
1. ขูดหินปูน จัดฟันก่อนฟอกสีฟัน | 1. จะมีเจ้าหน้าที่คอยสอบถามอาการคนไข้เป็นระยะว่ามีอาการเสียวฟันหรืออาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ | 1. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทสี เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ อาหารใต้ ในช่วง 1-2 สัปดาห์ หลังฟอกสีฟัน |
2. ควรได้รับการอุดฟันก่อนฟอกสีฟัน ในกรณีที่มีฟันผุ หรือคอฟันฉีก | 2. หากคนไข้มีอาการผิดปกติระหว่างฟอกสีฟันสามารถยกมือเพื่อส่งสัญญาณแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ | 2. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ 1-2 สัปดาห์หลังฟอกสีฟัน |
3. บางรายอาจจะได้รับคำแนะนำให้ใช้ยาสีฟันลดอาการเสียวฟัน | 3. เมื่อทำการฟอกสีฟันเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะทายากันเสียวฟันหรือลดอาการเสียวฟันให้ทุกเคส | 3. แปรงฟันให้สะอาดมากๆ ในช่วง1-2 สัปดาห์หลังฟอกสีฟัน |
4. เพื่อป้องกันฟันกลับไปสีคล้ำเหมือนเดิม ควรแปรงฟันหรือบ้วนปากหลังจากดื่มชา กาแฟ หรือกินอาหารที่มีสีและรสจัดทุกครั้ง | ||
5. ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด |
อาการระหว่างฟอกสีฟัน
- อาจจะมีเสียวฟันได้ระหว่างทำ
- อาจจะเมื่อยปากบ้าง
- อาจจะรู้สึกร้อนบริเวณริมฝีปากที่เกิดจากรังสี
- บางกรณีระหว่างทำอาจไม่มีอาการเสียวฟัน แต่หลังฟอกเสร็จ 1-2 ชม. อาจมีอาการเสียวฟันเกิดขึ้นได้ หรือบางรายจะมีอาการเสียวฟันตอนดื่มน้ำเย็นได้ อาการเหล่านี้จะเริ่มดีขึ้นภายใน 1-2 วัน
ประเภทของการฟอกสีฟัน
1. In-office Power Bleaching เป็นการฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ที่คลินิก จะใช้น้ำยาฟอกสีฟันที่มีความเข้มข้นสูง ร่วมกับ Cool Light LED หรือเลเซอร์ ซึ่งมีข้อดีคือ
- มีความปลอดภัย
- ทุกขั้นตอนอยู่ในความดูแลของแพทย์
- ใช้เวลาทำไม่นาน
- เห็นผลทันทีหลังทำ ขึ้นอยู่กับสภาพฟันของแต่ละบุคคล
2. At-home Bleaching เป็นการฟอกสีฟันที่สามารถทำได้เองที่บ้าน แต่จะต้องมาพบทันตแพทย์ก่อนในครั้งแรกเพื่อพิมพ์ปากทำถาดฟอกสีฟันเฉพาะบุคคล รับน้ำยาฟอกสีฟันและคำแนะนำในการใช้ มีข้อดีคือความสะดวกสบายและราคาถูกกว่า
3. In-office assisted Bleaching เป็นการฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ ร่วมกับการฟอกสีฟันเองที่บ้าน ใช้ในกรณีที่ฟันมีสีเข้มมาก โดยทันตแพทย์จะฟอกสีฟันให้ที่โรงพยาบาลก่อน แล้วจะให้อุปกรณ์พร้อมน้ำยาฟอกสีฟันนำกลับไปทำต่อเองที่บ้านได้
4. Over-the-counter Bleaching เป็นการฟอกสีฟันที่สามารถทำได้เอง โดยสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น แถบฟอกสีฟัน ยาสีฟันช่วยให้ฟันขาว น้ำยาบ้วนปากฟอกฟันขาว ที่มีวางจำหน่ายตามร้านค้าและร้านขายยาทั่วไป
5. Internal Bleaching การฟอกสีฟันเฉพาะซี่ที่ต้องทำโดยทันตแพทย์ เพราะเป็นการฟอกสีฟันที่เปลี่ยนสีเนื่องจากฟันตาย ซึ่งมักมีการเปลี่ยนสีของฟันเฉพาะซี่ ไม่ได้เปลี่ยนสีทั้งปาก
ข้อแนะนำที่ดีจากทันตแพทย์ในการฟอกสีฟัน
การจะเลือกฟอกสีฟันหรือฟอกฟันขาวแบบไหนดีนั้น แต่ละวิธีจะมีความเหมาะสมกับแต่ละสาเหตุ และระดับความเข้มของสีฟันที่แตกต่างกันไป ซึ่งทันตแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญด้านการฟอกสีฟันจะให้คำแนะนำและคำปรึกษาที่ดีต่อผู้รับบริการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และตระหนักถึงคุณภาพที่ดีของการฟอกสีฟัน โดยพิจารณาเลือกวิธีที่ดีและเหมาะสมที่สุดกับฟันของแต่ละบุคคล
การฟอกสีฟันที่ได้รับความนิยมมี 3 รูปแบบ
การฟอกสีฟันด้วยแสงเย็น Cool light | ฟอกสีฟันด้วยเลเซอร์ | การฟอกสีฟันแบบ Zoom |
ใช้แสง LED ฉายลงบนฟันที่ทาน้ำยาฟอกสีฟัน เข้าไปกระตุ้นการทำงานของน้ำยาฟอกสีฟัน ให้เม็ดสีหนาทึบของฟันแตกตัว ทำให้ฟันดูขาวกระจ่างขึ้น | ใช้แสงเลเซอร์ไดโอดมากระตุ้นให้น้ำยาฟอกสีฟันแตกตัว แทรกซึมเข้าไปในผิวฟันได้ดีขึ้น ทำให้ขจัดคราบและเม็ดสีบนผิวฟันได้อย่างรวดเร็ว | ใช้พลังงานแสงสีฟ้าชนิดเข้มข้น มากระตุ้นการทำงานของน้ำยาฟอกสีฟันแทรกซึมเข้าสู่ชั้นผิวฟันและกำจัดคราบหรือเม็ดสีบนเนื้อฟันได้ดีขึ้น โดยไม่ทำลายโครงสร้างของฟัน |
อาการหลังฟอกสีฟัน
มีผู้รับบริการบางรายหลังจากการฟอกสีฟันแล้ว อาจมีอาการเสียวฟันร่วมด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีด้านการฟอกสีฟันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเสียวฟันเกิดขึ้นน้อยลง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการเสียวฟันนี้จะหายเองได้ในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง
ฟอกสีฟันให้ปลอดภัยและได้ผลดี
การฟอกสีฟันที่ปลอดภัย ได้ผลดี และมีคุณภาพเพื่อความสวยงามและเป็นเหมือนการรักษาสุขภาพฟันให้ดี ไม่เสียหาย สิ่งสำคัญคือการเข้าพบทันตแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพโดยตรง เพราะการฟอกสีฟันหรือน้ำยาฟอกฟันขาวที่หาซื้อตามร้านมาทำเองที่บ้านนั้น ถ้าใช้หรือทำผิดวิธีอาจส่งผลกระทบและเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพฟันและช่องปาก เช่น เกิดการอักเสบ การเสียวฟัน การระคายเคือง มีความเสียหายของประสาทฟัน ซึ่งทำให้สุขภาพฟันแย่ลง แทนที่จะดีขึ้นหรือสวยขึ้นอย่างที่คาดหวังไว้