มะเร็งเกิดขึ้นจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติ ที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานได้ ถ้าหากมะเร็งแพร่กระจายเข้าอวัยวะสำคัญ อวัยวะเหล่านั้นจึงล้มเหลว ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้มะเร็งบางชนิดนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ถ้าหากรู้ตัวตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น
มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในประเทศไทย ในแต่ละวัน มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เฉลี่ยชั่วโมงละ 7 ราย องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นปีละ 118,600 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ร้อยละ 40 สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ ด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยง และเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ทันท่วงที
อันตราย 7 ประการ สัญญาณก่อการโรคมะเร็ง !!
- ระบบขับถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือปัสสาวะเป็นเลือด
- กลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียดแน่นท้องเป็นเวลานาน
- มีอาการเสียงแหบและไอเรื้อรัง
- มีเลือดหรือตกขาวที่ผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น
- เป็นแผลรักษาไม่หาย
- ก้อนหูดหรือไฝตามร่างกายโตขึ้น
- มีก้อนที่เต้านมหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
มะเร็งที่ผู้ชายป่วยมากที่สุด ได้แก่ มะเร็งตับ ปอด ลำไส้และทวารหนัก ต่อมลูกหมาก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ผู้หญิง ได้แก่ มะเร็งเต้านม ตับ ปากมดลูก ปอด ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการใช้ชีวิตแบบคนเมือง นิยมกินแต่เนื้อสัตว์ กินผักผลไม้น้อย ออกกำลังกายน้อย
ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลพญาไท 2 ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และมีปณิธานที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา จึงได้เปิดบริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยไปจนถึงการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ โดยทีมแพทย์ที่มีชื่อเสียง และเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ผ่านการอบรมและมีความชำนาญเฉพาะทาง อีกทั้งยังมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ให้การดูแลผู้ป่วยโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งส่งผลให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพสูงและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้มารับบริการ
การตรวจคัดกรองความเสี่ยงเป็นมะเร็ง
- การประเมินความเสี่ยงการเกิดมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยการวาดแผนภูมิครอบครัวหรือที่เรียกว่า Pedigree เพื่อประเมินอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งภายในครอบครัว เช่น ผู้หญิงคนใดมีโอกาสที่จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ที่ถ่ายทอดทางยีนมาในสายเลือด
- การตรวจร่างกายเพื่อค้นหาความเสี่ยงของมะเร็ง
หากคุณมีอาการเสี่ยง 7 ข้อนี้ควรรีบเข้ามาตรวจคัดกรองมะเร็ง “มะเร็งตรวจพบไว มีโอกาสหายสูง”
- ประจำเดือนผิดปกติ
- แผลเรื้อรัง ไม่รู้จักหาย
- มีก้อนตุ่ม ไต โตผิดปกติ
- กลืนกินอาหารลำบาก ขับถ่ายผิดปกติ
- ไฝ หูด ปาน โตขึ้นผิดปกติ
- ไอ เสียงแหบ จนเรื้อรัง
ในการตรวจคัดกรองมะเร็ง แพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งจะซักประวัติ และตรวจร่างกาย รวมถึงตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ เอกซเรย์ปอด และอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ผู้ชายจะได้รับการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนในผู้หญิงจะได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูก และตรวจมะเร็งเต้านม
การรักษาโรคมะเร็ง
- การฉายรังสี ไปยังเนื้อเยื่อของเนื้องอกหรืออวัยวะใด ๆ ที่เป็นเนื้อเยื่อที่มีชีวิต รังสีจะทำลาย DNA ของเซลล์เนื้องอกโดยตรง ทำให้เซลล์เนื้องอกตาย และเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเซลล์เนื้องอกนั้น การรักษาจะมุ่งเน้นการฉายรังสีไปที่ก้อนมะเร็ง โดยหลีกเลี่ยงอวัยวะข้างเคียงที่สำคัญให้มากที่สุด ทีมแพทย์จะวางแผนการรักษาก่อนและระหว่างการฉายรังสี เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามแผนที่วางไว้
- การรักษาโรคมะเร็งด้วยการให้ยาเคมีบำบัด ( Chemotherapy ) เพื่อเข้าไปออกฤทธิ์ทำลายการแบ่งเซลล์ ไม่ว่าเซลล์นั้นจะเป็นเซลล์มะเร็งหรือเป็นเซลล์ปกติ โดยตัวยาจะกระจายไปได้ทุกส่วนของร่างกาย เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในโรคมะเร็งบางชนิด สามารถหายขาดได้ด้วยการให้ยาเคมีบำบัด แต่ในมะเร็งบางชนิด การให้ยาเคมีบำบัดจะเป็นการควบคุมโรคให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงหรือไม่โตขึ้น และไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ในการให้ยาเคมีบำบัดแก่ผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจาย จะช่วยบรรเทาอาการจากโรคมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาชนิดและระยะของโรคมะเร็ง ผลข้างเคียงของยา และสภาพของผู้ป่วย
- การรักษาโรคมะเร็งแบบออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจง ( Targeted Therapy )โดยให้ยาหรือสารไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ก่อนผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งแบบออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจง แพทย์ตรวจเซลล์มะเร็งของผู้ป่วย ( Precision Medicine ) โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลในระดับโมเลกุล มาใช้ในการตรวจวินิจฉัย การเลือกรูปแบบการรักษา ช่วยให้แพทย์สามารถเลือกให้ยาเพื่อเข้าไปยับยั้งหรือเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์ที่ผิดปกติ ที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมของก้อนมะเร็งที่พบ ทำให้สามารถรักษาได้อย่างจำเพาะ มีประสิทธิภาพ และลดการกลับมาเป็นซ้ำได้ดียิ่งขึ้น มะเร็งบางชนิดพบได้สูงขึ้น หากมีประวัติในครอบครัว เนื่องจากความผิดปกติบางอย่างสามารถ่ายทอดได้ในระดับพันธุกรรม เช่น ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม และตรวจพบยีน BRCA 1/2 จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่สูงกว่าคนทั่วไป การได้ข้อมูลในระดับพันธุกรรมนี้ มีผลอย่างยิ่งต่อการวางแผนเฝ้าระวัง ติดตาม และป้องกัน เช่น แพทย์อาจแนะนำมาตรวจเต้านมบ่อยขึ้น หรือในบางรายอาจแนะนำให้ตัดเต้านมหรือรังไข่ออก เป็นต้น ข้อดีของ Precision Medicine สำหรับโรคมะเร็ง คือ สามารถเลือกใช้ยารักษาได้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย ช่วยค้นหาและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง และไม่ใช่รักษาแค่หาย แต่ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ชนิดของมะเร็งที่สามารถรักษาด้วย Targeted Therapy มีหลายชนิด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งรังไข่ มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- การรักษาโรคมะเร็งแบบออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจง ( Targeted Therapy ) เป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มักเกิดความกังวลเกี่ยวกับ “โอกาสการเสียชีวิต” ที่รวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นจะช่วยยืดอายุผู้ป่วยมากขึ้น
- การผ่าตัดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไป ต้องเตรียมผู้ป่วยให้พร้อม แก้ไขภาวะผิดปกติต่างๆ ก่อนการผ่าตัด เพื่อให้มีโอกาสเกิดปัญหาแทรกซ้อนน้อยที่สุด และเนื่องจากการผ่าตัดในบางกรณีนั้นเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่กินบริเวณค่อนข้างกว้าง ใช้เวลานานและยุ่งยาก โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือมีความเสี่ยงต่อชีวิตค่อนข้างมาก การผ่าตัดรักษามักทำในผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้น หรือแพร่กระจายไปเนื้อเยื่อข้างเคียงผ่านอวัยวะที่เป็นโพรงเท่านั้น การให้ยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสงช่วยเสริมให้ผลการผ่าตัดได้ผลดีขึ้น
การผ่าตัดมะเร็งมีหลายชนิด ได้แก่ การผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนของก้อนมะเร็งออก การผ่าตัดบริเวณกว้างโดยตัดเอาส่วนมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงออก หรือการผ่าตัดบริเวณกว้างโดยตัดเอาส่วนของมะเร็งที่กระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงออกหรือต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกด้วย และการผ่าตัดครอบคลุมกว้างขวางที่ทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้องอกขนาดใหญ่หรือกระจายเข้าไปในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง โดยยังไม่มีการกระจายไปไกล