นพ. กฤตนัย ธีรธรรมธาดา

นพ. กฤตนัย ธีรธรรมธาดา

นพ. กฤตนัย ธีรธรรมธาดา


ความชำนาญ
โสต ศอ นาสิกวิทยา
ความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง
โสต ศอ นาสิกวิทยา
สาขา

ข้อมูลทั่วไป

“แม้โรคเวียนศีรษะอาจไม่ได้ทำให้คนไข้เสียชีวิตก็จริง แต่ก็ทำให้เสียคุณภาพชีวิตไปอย่างมาก เมื่อหมอมาเรียนต่อยอดที่ รพ. รามาฯ ก็พบว่า คนไข้ที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตรงจุด จากที่เขาต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการเวียนศีรษะมาหลายปี ก็กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และหลายคนก็หายขาดจากโรคเลย”

 

 

นพ. กฤตนัย ธีรธรรมธาดา สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จากนั้นได้ศึกษาต่อวุฒิบัตรโสต ศอ นาสิกวิทยา และอนุสาขาโสตประสาทวิทยา อีกด้วย คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า…

 

 

“ที่หมอสนใจศึกษาต่อด้านนี้เพราะรู้สึกว่าคนไข้เวียนศีรษะนั้นค่อนข้างน่าเห็นใจ เพราะโรคเวียนหัวเป็นปัญหาใหญ่ที่มักถูกละเลย ทั้งความไม่รู้ของคนไข้ และระบบการรักษาที่ยังอาจถูกมองข้าม ด้วยการรับรู้และการตระหนักในการรักษาโรคเวียนหัวว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางหู คอ จมูกด้วยนั้นมีน้อยมากๆ ส่วนการเป็นแพทย์ด้าน ENT หรือหู คอ จมูก ก็ต้องมีความละเอียดอ่อน เพราะเป็นการตรวจ วินิจฉัย และรักษาในอวัยวะที่เป็นพื้นที่เล็กๆ การรักษาจึงมีเสน่ห์จากการใช้อุปกรณ์เพื่อการเข้าถึงรอยโรค มีความท้าทายในการฝึกฝนให้เชี่ยวชาญตั้งแต่ตอนเรียน โรคในกลุ่มนี้เมื่อคนไข้มาพบด้วยอาการอะไรก็แล้วแต่ หมอก็มักจะตรวจทั้งระบบหู คอ และจมูกไปด้วยกัน เพื่อการรักษาที่ตรงจุดตรงอาการที่สุด”

นอกจากความเชี่ยวชาญของแพทย์ ความพร้อมของอุปกรณ์ก็สำคัญไม่น้อย

ปัจจุบัน อุปกรณ์ในการตรวจต่างๆ มีการพัฒนาขึ้นมาก ทำให้แพทย์มองเห็นโรคชัดขึ้น สำหรับโรงพยาบาลพญาไท 2 คุณหมอกฤตนัย จะมีการใช้กล้องไมโครสโคป ซึ่งสามารถมองเห็นรายละเอียดในรูหูหรือในแก้วหูได้อย่างชัดเจน…

 

 

“อย่างการตรวจไซนัส โดยทั่วไปถ้าเป็นการตรวจโดยใช้อุปกรณ์ของแผนกอื่นก็อาจเห็นแค่ด้านหน้าของอวัยวะ แต่กล้องของศูนย์หู คอ จมูก จะมีเทเลสโคปที่ส่องเข้าไปเห็นถึงข้างในโพรงไซนัส และมีไฟเบอร์ออฟติกที่สามารถส่องเข้าไปดูในคอ ในกล่องเสียง เพื่อหาว่ามีความผิดปกติที่ตำแหน่งไหนบ้าง

 

 

ส่วนอุปกรณ์ตรวจอาการเวียนศีรษะก็กำลังเป็นที่นิยมและมีความทันสมัยมากขึ้น ที่โรงพยาบาลก็มีเครื่อง CDP ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ให้คนไข้ขึ้นไปยืนบนเครื่อง แล้วเครื่องจะวัดได้ว่าจุดศูนย์ถ่วงน้ำหนักเวลายืนอยู่ตรงไหน มีความผิดปกติของการทรงตัวจากสาเหตุระบบใด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่จะล้ม หรือมีภาวะเวียนศีรษะอยู่บ่อยๆ ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดด้วยวิธีการนี้

 

 

ในกรณีที่คนไข้มีอาการเวียนศีรษะหรืออาการบ้านหมุน หมอก็จะทำการซักประวัติอย่างละเอียดซึ่งตรงนี้ต้องใช้เวลา เพราะต้องตรวจร่างกายทางระบบประสาท ทางระบบหู ดูเรื่องหูชั้นนอกชั้นกลาง ชั้นใน มีการขยับศีรษะเพื่อตรวจดูท่าต่างๆ เพื่อตรวจดูภาวะที่มีตะกอนหินปูนหลุดจากตำแหน่งปกติด้วยหรือไม่  หรืออาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันที่อาจจะทำให้การได้ยินผิดปกติด้วยหรือเปล่า

 

 

การที่ผู้สูงอายุมีอาการเวียนศีรษะหรือรู้สึกบ้านหมุน ทรงตัวไม่ค่อยอยู่ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม ซึ่งการล้มในผู้สูงอายุนั้นเป็นภาวะที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมมาก อาจมีการแตกหักของกระดูก ต้องผ่าตัด ต้องนอนโรงพยาบาล รวมถึงการมีโรคแทรกซ้อนตามมา ฉะนั้นควรป้องกันโดยรักษาอาการเวียนศีรษะกันก่อนน่าจะดีกว่า”

โรคปวดศีรษะ อาการที่ซับซ้อนกับการรักษาที่เจาะลึก

การรักษาโรคปวดศีรษะต้องใช้เวลาในการค้นหาและติดตามอาการของโรคในแต่ละบุคคลอย่างสม่ำเสมอ ในการตรวจจะต้องซักประวัติที่ละเอียดกว่าปกติ จึงใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่คุณหมอกฤตนัย ก็จะให้เวลากับคนไข้อย่างเต็มที่…

 

 

“คนไข้ที่มาด้วยโรคเวียนศีรษะ เขาย่อมรู้สึกแย่อยู่แล้ว อาจจะเพราะส่วนหนึ่งถูกมองว่าโรคนี้ไม่ได้ร้ายแรงหรืออันตรายถึงชีวิต ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการรักษาหรือค้นหาสาเหตุอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นหมอจะต้องค้นหาให้พบปัญหาที่แท้จริงของคนไข้ว่าอยู่ตรงไหน บางทีโรคเวียนศีรษะจะไม่ใช่แค่หาโรคเจอแล้วจบ เพราะอาจมีอีกหลายๆ โรคซ่อนอยู่ก็ได้ อย่างเช่น คนคนหนึ่งอาจจะเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่เนื่องจากเขามีความกลัวหรือวิตกกังวลกับท่าทางอาการทางกายมาก เลยทำให้เขามีภาวะอื่นๆ ของการทรงตัวที่ผิดปกติแทรกซ้อนตามมา  ร่างกายจะปรับตัวกับภาวะเวียนหัวไม่ดี บางคนเวียนหัวซ้ำๆ แล้วไม่หายสักที ร่างกายก็จะสร้าง ปฏิกิริยาโต้ตอบที่กลัวขึ้นมา ลักษณะท่าทางของร่างกายก็จะผิดปกติไปด้วย การหัน การเงย การทำท่าทางของคนไข้ก็จะผิดปกติ และมันก็ยิ่งทำให้เขาเวียนหัวไม่หาย เพราะฉะนั้นเราต้องมาหาประเด็นต่างๆ เหล่านี้ด้วย ว่ามันทำให้เขามีความกังวลในด้านใดมากขึ้นหรือเปล่า หรือมีความผิดปกติในด้านไหนเพิ่ม จะได้รักษาให้ตรงจุดมากขึ้น การให้เวลาในการซักประวัติคนไข้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก”

เวียนศีรษะเป็นปัญหาใหญ่ในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ด้วยคุณหมอกฤตนัย เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคเวียนศีรษะ คุณหมอจึงอยากเห็นคนไทยตระหนักว่า โรคเวียนศีรษะเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่ง อย่างที่เคยมีงานวิจัยบอกเอาไว้ว่าคุณภาพชีวิตของคนไข้ที่มีอาการบ้านหมุนจากน้ำในหูไม่เท่ากัน มีความลำบากและความวิตกกังวลใกล้เคียงกับคนไข้ที่ต้องล้างไต หรือคนที่ต้องผ่าตัดมะเร็งเลยทีเดียว…

 

 

“เรื่องการเวียนศีรษะนั้นจริงๆ ก็มีระดับเวียนน้อย เวียนมาก เวียนต่อเนื่อง เวียนเป็นพักๆ ต่างกันไป การรักษาจึงต้องวินิจฉัยโรคให้ตรงกับอาการด้วย อย่างอาการเวียนหัวบ้านหมุน ส่วนมากจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับแพทย์ด้านหู คอ จมูก มากที่สุด การมาพบหมอทางโสตประสาทจึงเป็นทางหนึ่งในการรักษาที่ถูกกับโรค ลองคิดดูว่า ถ้าเราอยู่เฉยๆ โดยไม่รู้ว่าจะเวียนขึ้นมาเมื่อไหร่ อยู่ๆ ก็รู้สึกบ้านหมุนขึ้นมา มันก็ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ บางคนอาจถึงขั้นต้องลาออกจากงาน

 

 

การรักษาโรคนี้ไม่ใช่แค่การให้ยา เราต้องหาสาเหตุของโรคเพื่อจะได้ชะลอภาวะการเกิดและป้องกันโรคแทรกซ้อนด้วย เพราะจริงๆ อาการเวียนหัวส่งผลต่อร่างกายมากกว่าที่คิด และควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตหลายๆ ที่ก็เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง มีคำแนะนำในการรักษาที่ไม่เหมาะสม อย่างถ้าเป็นหินปูนในหูชั้นในหลุด การกินยาก็ไม่ใช่การรักษาที่ตรงจุด ควรมาโรงพยาบาลแล้วรักษาให้ตรงจุดดีกว่า เพราะแพทย์เฉพาะทางจะทำการจัดท่าศีรษะ หมุนศีรษะเพื่อการรักษาอย่างถูกต้องและหายจากอาการได้”

เมื่อคนไข้หายดี คุณหมอก็มีความสุขใจ

โรคเวียนศีรษะ ส่วนใหญ่จะต้องรักษากันนาน แต่เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็มักรักษาให้หายได้ ในทุกการรักษา คุณหมอกฤตนัย จึงทุ่มเทอย่างเต็มที่…

 

 

“หมอรู้สึกเห็นใจคนไข้โรคเวียนศีรษะทุกคน เพราะเขาจะมีชีวิตอย่างปกติสุขได้ยาก การที่หมอรักษาคนไข้ให้เขาดีขึ้นได้ หรือหายเป็นปกติ แล้ววันนึงเมื่อเขามาหาหมอตามนัด แล้วบอกกับหมอว่า อาการดีขึ้นแล้ว ไม่รู้สึกเวียนหัวนานแล้ว หรือสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว ก็ทำให้หมอรู้สึกดีและภูมิใจ รวมทั้งมีความสุขไปกับคนไข้ด้วย เพราะเขาคงทรมานกับโรคนี้มานานและหายได้สักที”


  • 2552 – 2558 แพทยศาสตร์บัณฑิต, คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • 2558 – 2559 Internships, รพ.เลย
  • 2560 – 2561 Internships, รพ.วังสะพุง
  • 2561 – 2563 วุฒิบัตร โสต ศอ นาสิกวิทยา (Otolaryngology), คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • 2564 – 2565 Fellowships โสตประสาทวิทยา, คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
    2564 – ปัจจุบัน

ตารางออกตรวจ

คลินิก หู คอ จมูก

(17:00 - 19:00)

คลินิก หู คอ จมูก

(17:00 - 19:00)

คลินิก หู คอ จมูก

(17:00 - 19:00)

คลินิก หู คอ จมูก

(17:00 - 19:00)
Loading...
Loading...