
พญ. ศศิภา แสงกาญจนวนิช
พญ. ศศิภา แสงกาญจนวนิช
ศูนย์
ความชำนาญ
ความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง
สาขา
ข้อมูลทั่วไป
“ที่หมอสนใจด้านโรคภูมิแพ้ เพราะเห็นว่ามีความรู้ด้านวิชาการเยอะมาก ได้เรียนเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย และกลไกการเกิดโรคก็เจาะลึกลงไปที่เซลล์ ซึ่งส่งผลต่อการเลือกใช้ยาที่เกี่ยวกับกลุ่มภูมิคุ้มกัน อีกทั้งคนไทยก็เป็นโรคภูมิแพ้เยอะขึ้นมาก ความรู้ด้านนี้น่าจะช่วยดูแลคนไข้ได้เยอะ มีประโยชน์กับคนไข้จริงๆ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีขึ้นอย่างชัดเจน”
พญ. ศศิภา แสงกาญจนวนิช สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นคุณหมอได้ศึกษาต่อวุฒิบัตรอายุรศาสตร์ และอนุสาขาอายุรศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า. . . .
“เริ่มจากครอบครัวที่สนับสนุนให้หมอเรียนแพทย์ ซึ่งหมอก็ชอบ และพอได้มาเรียนจริงๆ ก็รู้สึกสนุก หมอชอบที่จะได้ช่วยเหลือและดูแลคนไข้ ยิ่งพอนึกถึงว่าคุณพ่อคุณแม่ของหมอก็อายุมากขึ้นเรื่อยๆ หมอจึงสนใจที่จะศึกษาต่อด้านที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุได้ เพราะอยากดูแลท่านได้ด้วย จึงเลือกเรียนต่อในสาขาอายุรศาสตร์ พอเรียนจบก็สนใจศึกษาต่อในอนุสาขา ซึ่งตอนนั้นหมอก็เลือกในแนวที่ว่า ตัวเองชอบอะไรมากที่สุด ประกอบกับพอดีว่ามีสาขาโรคภูมิแพ้ที่เพิ่งเปิดสอนได้ไม่นานและมีแพทย์น้อย หมอก็คิดว่าสาขาของโรคภูมิแพ้สามารถต่อยอดไปได้อีกไกล และมียาใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับเซลล์ออกมาให้เรียนรู้เยอะมาก”
คนไข้โรคภูมิแพ้ที่คุณหมอดูแลรักษา
คนไข้ที่คุณหมอศศิภา พบมากคือ ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล เมื่อคนไข้รู้สึกว่าอาการเหล่านี้รบกวนกิจวัตรประจำวัน ก็จะมาโรงพยาบาลเพื่อต้องการทดสอบว่าแพ้อะไรกันแน่ เช่น ไรฝุ่น วัชพืช แมลงสาบ หรือว่าเชื้อรา เพื่อเขาจะได้หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น และคุณหมอก็จะได้จัดยาให้อย่างถูกต้องตรงกับสิ่งที่คนไข้แพ้ ซึ่งการรักษาก็ต้องอาศัยความร่วมมือของคนไข้ที่ต้องดูแลตนเอง โดยคุณหมอเสริมยาให้ป้องกันอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งคุณหมอบอกว่า. . .
“การรักษาจะควบคู่กันไประหว่างใช้ยาและไม่ใช้ยา เมื่อเราทดสอบว่าคนไข้แพ้อะไร เราก็จะให้คนไข้ปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา ให้เขาเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้น ก็จะให้คำแนะนำเขาไปว่าควรเลี่ยงอะไร และทำอย่างไรได้บ้าง โดยให้ยาควบคู่ไปด้วยกัน ดูแลทั้ง 2 ทางไปด้วยกัน เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น คนไข้สามารถปรับสิ่งแวดล้อมได้แล้ว เราก็ค่อยๆ ลดยาให้คนไข้ แต่โดยส่วนใหญ่จะบอกกับคนไข้อยู่เสมอว่า โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เป็นตลอดชีวิต มันจะไม่หาย แต่อาการจะดีขึ้นหลังจากที่เขาปรับสิ่งแวดล้อมและใช้ยาควบคู่กันไป หากเป็นเคสที่อาการหนักมากจริงๆ เราอาจต้องคุยกับคนไข้เรื่องกลุ่มวัคซีนภูมิแพ้ ซึ่งวัคซีนมีมานานแล้ว แต่หลังๆ จะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ การให้วัคซีนเป็นการรักษาด้วยการฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่คนไข้แพ้เข้าไปทีละนิดๆ จนร่างกายเกิดภาวะทนต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ ได้ จึงทำให้อาการของคนไข้ลดลง โดยที่คนส่วนใหญ่รู้ จะเป็นการฉีดเข้าไปใต้ผิวหนัง แต่ในระยะหลังๆ มีการพัฒนาเป็นการอมใต้ลิ้น ซึ่งในประเทศไทยก็จะมีแต่โรคภูมิแพ้ไรฝุ่นที่เป็นยาอมใต้ลิ้น ซึ่งการรักษาแบบนี้ช่วยลดการเดินทางมาโรงพยาบาล เพราะสามารถนำกลับไปอมเองที่บ้านได้”
แนวทางการรักษา
ในทุกการรักษา คุณหมอศศิภา จะให้ความใส่ใจในการซักถามประวัติอาการและสิ่งแวดล้อม โดยใช้เวลาค่อนข้างมาก ซึ่งคุณหมอเล่าว่า. . .
“ถ้าเป็นเคสมาใหม่ หมอจะถามเกี่ยวกับอาการ ประเมินความรุนแรงของโรคว่ารบกวนกิจวัตรประจำวันของคนไข้มากหรือไม่ อาการที่เป็น เป็นกี่ครั้งต่อสัปดาห์หรือถี่แค่ไหน หลังจากนั้นจะถามว่าอาการอะไรของคนไข้ที่เป็นมากและเด่นที่สุด เพื่อการเลือกยาให้เหมาะกับคนไข้ ทั้งยังต้องถามถึงอาชีพของคนไข้ เพราะว่าถ้าเป็นงานโรงงานก็จะมีผลมากต่ออาการภูมิแพ้ จะต่างจากงานในออฟฟิศซึ่งจะไม่ค่อยมีผลมากนัก และถามถึงสิ่งแวดล้อมรอบบ้านด้วย ว่าอยู่ติดถนนใหญ่หรือเปล่า หรือว่าเข้าไปในซอย มีสัตว์เลี้ยงหรือไม่ ประวัติสุขภาพคนในครอบครัว และโรคร่วม การซักประวัติการใช้ชีวิตประจำวันถือเป็นเรื่องสำคัญในการค้นหาสาเหตุและการพิจารณาให้ยา”
เมื่อคุณหมอศศิภา ประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่างแล้ว คุณหมอก็จะคุยกับคนไข้เรื่องการทดสอบว่าแพ้อะไร เป็นการทดสอบทางผิวหนัง ถ้าเป็นเคสที่ทำไม่ได้หรือไม่เหมาะกับการทดสอบทางผิวหนัง ก็อาจใช้วิธีการตรวจเลือดแทน หลังจากนั้นคุณหมอจะพิจารณาเลือกยาให้เหมาะกับคนไข้ และสอนวิธีการใช้ยาต่างๆ
สำหรับการอ่านผลทดสอบทางผิวหนัง ในทุกๆ วันที่มีคนไข้เข้ามา คุณหมอก็จะมีเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณา มีเกณฑ์การวินิจฉัย แต่หากกรณีที่อ่านผลได้ยากกว่าปกติ ก็จะมีการซักถามคนไข้เพิ่มเติมถึงอาการคันในตำแหน่งต่างๆ ว่ามีเกิดขึ้นหรือไม่ โดยคุณหมอจะพิจารณาถึงการใช้ชีวิตของคนไข้เป็นหลักร่วมกับอาการที่เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมของคนไข้ โรคต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการเกิดภูมิแพ้ของคนไข้ ซึ่งเป็นการพิจารณาแบบองค์รวม
การรักษาคนไข้ ต้องให้อาการเหลือน้อยที่สุด
ด้วยคุณหมอศศิภา เป็นแพทย์รักษาด้านโรคภูมิแพ้ ซึ่งเป็นโรคที่มักไม่หายขาด คุณหมอจึงใช้การดูแลรักษาคนไข้โดยมุ่งหวังให้คนไข้มีอาการเหลือน้อยที่สุด ให้คนไข้คุมอาการได้ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกๆ วัน. . .
“การรักษาคนไข้คืออาชีพของเรา เรามีความชำนาญด้านนี้ ฉะนั้นการที่เห็นคนไข้หายดี มีความสุข หรือว่าอาการดีขึ้น หมอก็จะรู้สึกมีความสุขในการทำงาน หมอชอบที่จะเห็นความคืบหน้าของการรักษา อย่างคนไข้ที่อาการดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น คนไข้ที่เพิ่งเคยมารักษา ตอนแรกก็จะบ่นว่าอาการเขาแย่มาก ต้องตื่นกลางดึกตลอดเพราะแน่นจมูก พอได้รับยาก็หลับสบายทั้งคืน พอได้ยินแบบนี้แล้วหมอก็รู้สึกดีใจ หรือบางคนก็จะบอกว่า ตอนนั่งทำงานน้ำมูกไม่ไหลแล้ว อาการดีขึ้นมาก แบบนี้ก็มีบ่อยๆ”
โรคภูมิแพ้เป็นโรคใกล้ตัว บางคนเป็นภูมิแพ้แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น คุณหมอศศิภา แนะนำว่า ควรเข้ามารับการทดสอบและรับการรักษา บางคนจมูกตันจนชิน ก็ทนไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่านี่คืออาการของโรคภูมิแพ้ที่รักษาได้ แต่พอได้มารักษาอาการก็จะดีขึ้น หายใจโล่งขึ้น ดีต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้อย่างชัดเจน
การศึกษา
- 2549 – 2555 แพทยศาสตรบัณฑิต, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- 2555 – 2556 Internships, รพ.อยุธยา
- 2558 – 2561 วุฒิบัตร อายุรศาสตร์ (Internal Medicine), รพ.พระมุงกุฎเกล้า
- 2561 – 2563 วุฒิบัตร อายุรศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก (Allergy and Clinical Immunology), รพ.พระมุงกุฎเกล้า
ไม่พบตารางนัดหมาย
กรุณาโทร 1772